‘ตรีนุช’ ยืนยัน เปิดภาคเรียน 14 มิ.ย. เป็นหลัก เปิดโอกาส ‘พร้อมก่อน เปิดก่อนได้’
‘ตรีนุช’ ยืนยัน เปิดภาคเรียน 14 มิ.ย. เป็นหลัก เปิดโอกาส ‘พร้อมก่อน เปิดก่อนได้’

‘ตรีนุช’ ยืนยัน เปิดภาคเรียน 14 มิ.ย. เป็นหลัก เปิดโอกาส ‘พร้อมก่อน เปิดก่อนได้’

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ที่ Facebook เพจ ตรีนุช เทียนทอง ได้เผยแพร่โพสต์เกี่ยวกับการเปิดเรียนภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564  ดังนี้

หลังจากประกาศให้กำหนดวันเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ขึ้นใหม่ เป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564 นั้น ดิฉันพบว่า หลายท่านยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกับข้อเท็จจริงที่เกิดจากการนำเสนอข้อมูลของหลายแห่ง ซึ่งดิฉันขอเรียนแจ้งทุกท่านให้มีความมั่นใจตรงนี้ว่า ในขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้มีการตั้ง ‘ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.)’ โดยจะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารและประเด็นปัญหาจากการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ รวมทั้งจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเสนอ ศบค. ชุดเล็ก เพื่อพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งจะสนับสนุนให้การดำเนินงานของเรามีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นค่ะ ทั้งนี้ การพิจารณาเลื่อนเปิดเทอมของสถานศึกษาเป็นไปตามมาตรการป้องกันการควบคุมโรคตามระดับพื้นที่สำหรับสถานศึกษา ซึ่งแบ่งเขตพื้นที่ตามระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดฯ 3 ระดับ ได้แก่ พื้นที่สีแดงเข้ม พื้นที่สีแดง และพื้นที่สีส้ม

ส่วนประเด็นเรื่องวันเปิดภาคเรียนเป็นวันที่เท่าไหร่นั้น ดิฉันขอแจ้งให้ทุกท่านทราบตรงกันเลยนะคะว่า ‘สถานศึกษาทุกแห่งจะต้องเปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นหลัก’

อย่างไรก็ตาม เฉพาะสำหรับสถานศึกษาที่มีความพร้อมและมีความประสงค์ที่จะเปิดให้มีการเรียนการสอนก่อนวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ก็สามารถเปิดทำการได้ โดยจะต้องปฏิบัติตามรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่กระทรวงกำหนดและมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่ดครัด

ดิฉันเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ทุกท่านมีความห่วงใยเกี่ยวกับการเปิดภาคเรียนไม่ตรงกัน แต่ดิฉันอยากเรียนชี้แจงว่า สถานศึกษาแต่ละแห่งมีความพร้อมและความจำเป็นในการเปิดภาคเรียนแตกต่างกัน ทางกระทรวงศึกษาธิการก็ต้องคำนึงถึงบริบทและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเปิดภาคเรียนในทุกมิติให้ครบถ้วนรอบด้านเช่นกัน โดยสถานศึกษาที่อยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงสูง เราจะต้องพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อความปลอดภัยเป็นสำคัญ แต่สถานศึกษาที่อาจอยู่ในเขตพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือมีความพร้อมในการเปิดภาคเรียน เราจะพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การเข้าถึงอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในพื้นที่ชนบท โอกาสในการเรียนรู้ ความพร้อมของผู้ปกครองในการดูแลเลี้ยงดูบุตรหลานหากต้องพาไปสถานที่ทำงาน ฯลฯ ซึ่งการพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องนี้ ทำให้เราเปิด ‘ทางเลือก’ สำหรับสถานศึกษาที่อยู่ในบริบทดังกล่าว

นอกจากนี้ เมื่อมีการเปิดภาคเรียนแล้ว ทางกระทรวงได้จัดเตรียมแนวปฏิบัติของสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับข้อจำกัดด้านความปลอดภัยไว้ด้วยเช่นกัน โดย ‘สถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม’ จะสามารถดำเนินการได้เพียง 4 รูปแบบเท่านั้น ห้ามให้มี On Site อย่างเด็ดขาดตามมติของ ศบค. และในกรณี On Hand ต้องส่งทางไปรษณีย์ และ ‘สถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่สีแดงและสีส้ม’ จะสามารถเลือกรูปแบบได้ 5 รูปแบบตามความเหมาะสม โดยอาจจัดให้มีการผสมผสานรูปแบบได้ ทั้งนี้ หากต้องการใช้รูปแบบ On Site นั้น สถานศึกษาดังกล่าวจำเป็นต้องผ่านเงื่อนไขการอนุญาตดำเนินการ ดังนี้

1. สถานศึกษาจะต้องผ่านการประเมินความพร้อมของระบบ Thai Stop Covid Plus (TSC+) ใน 6 มิติ จำนวน 44 ข้อ (ตามลิ้งก์ https://tsc.anamai.moph.go.th/public/workflow.php…)

2. หลังจากผ่านการประเมินครบ 44 ข้อแล้ว สถานศึกษาจะต้องขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อขอใช้พื้นที่ของสถานศึกษาสำหรับจัดการเรียนการสอน

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าสถานการณ์ในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ดิฉันจะคอยติดตามและปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานอย่างเต็มที่ โดยพิจารณาหา ‘จุดร่วม’ ของทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมที่สุด และขอยืนยันกับทุกท่านว่า จะมีการประเมินความพร้อมของการจัดการเรียนการสอนอยู่เป็นระยะ หากเกิดสถานการณ์ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของเพื่อนครู ผู้เรียน และผู้ปกครอง เราจะต้องหาแนวทางใหม่ที่เหมาะสมสำหรับทุกคนอย่างแน่นอน#ตรีนุชเทียนทอง

ขอบคุณที่มาเพจ : Facebook ตรีนุช เทียนทอง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่