ตรีนุช วอนอย่าสกัดร่าง พ.ร.บ.การศึกษา เร่งดันเข้าสภา ชี้สามารถไปปรับแก้ได้ในชั้น กมธ.
ตรีนุช วอนอย่าสกัดร่าง พ.ร.บ.การศึกษา เร่งดันเข้าสภา ชี้สามารถไปปรับแก้ได้ในชั้น กมธ.

ตรีนุช วอนอย่าสกัดร่าง พ.ร.บ.การศึกษา เร่งดันเข้าสภา ชี้สามารถไปปรับแก้ได้ในชั้น กมธ.

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล และ ศธ.ถอนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ออกจากการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ขณะที่องค์กรครูสนับสนุนให้เร่งผลักดันกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานั้น คิดว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาเร็วๆ นี้ ส่วนกรณีที่มีผู้คัดค้านนั้น ขณะนี้ต้องเข้าสู่ขั้นตอนของสภาแล้ว หากเรื่องใดที่ยังมีข้อขัดแย้ง ก็สามารถไปปรับแก้ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขณะเดียวกันบางส่วนยังสามารถกำหนดไว้ในกฎหมายลูก ดังนั้น อยากเร่งให้ดำเนินการตามขั้นตอนไปก่อน

“ขณะนี้กฎหมายควรจะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภา พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับนี้ กำหนดรายละเอียดไว้กว้างๆ เพราะยังมีกฎหมายแม่หลายฉบับที่ต้องปรับให้สอดคล้อง หากเรื่องใดที่มีข้อขัดแย้ง สามารถไปปรับแก้ได้ในชั้น กมธ.หรือไปใส่ไว้ในกฎหมายลูก ดังนั้น อยากให้เร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด ไม่อยากให้มาสกัดดาวรุ่งกันก่อน” น.ส.ตรีนุช กล่าว

นายวิสิทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) กล่าวว่า ส่วนตัวอยากให้รัฐบาล และ ศธ.เสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฯ ให้สภาพิจารณาตามขั้นตอน ทั้งนี้ หากอ่านให้ละเอียด จะพบว่ากฎหมายดังกล่าวมีประเด็นที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น สิทธิประโยชน์ของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งไม่ได้หายไป ที่เพิ่มเข้ามาคือบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับครู ส่วนเรื่องที่ครู และผู้บริหารการศึกษากังวล ทั้งเรื่องใบรับรองความเป็นครู ชื่อตำแหน่ง หัวหน้าสถานศึกษา และโครงสร้าง ศธ.ก็ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว อีกทั้ง ยังเป็นผลดีกับสถานศึกษา และผู้บริหาร เพราะมีการกระจายอำนาจ สามารถเป็นโรงเรียนนิติบุคคลภายใน 2 ปี

“นอกจากนี้ ยังเน้นการจัดการเรียนเพื่อการยกระดับคุณภาพคนไทยในทุกช่วงวัย ตั้งแต่เป็นทารกจนตลอดชีวิต ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน กำหนดหมวดว่าด้วยเทคโนโลยีชัดเจน ให้มีระเบียบว่าด้วยกองทุนครูของแผ่นดิน เพื่อดูแลครู ลดขั้นตอนการบังคับบัญชา ให้มีความคล่องตัวในการจัดการศึกษา ที่สำคัญมุ่งลดการทุจริตในวงการครู ส่วนสิ่งที่ต้องปรับแก้ ยังมีอยู่ แต่สามารถไปแก้ได้ในชั้น กมธ.ซึ่งผมได้มีโอกาสเข้าไปเป็นคณะกรรมการพิจารณากฎหมายฉบับรองที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาฯ และเป็นอนุกรรมการการศึกษา เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติ และการมัธยมศึกษา” นายวิสิทธิ์ กล่าว

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์ วันที่ 13 กรกฎาคม 2564

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่