คลายปมปัญหาโบราณสถานจ.แพร่ กรมศิลป์ยันไม่ใช่
คลายปมปัญหาโบราณสถานจ.แพร่ กรมศิลป์ยันไม่ใช่"บอมเบย์เบอร์มา" พร้อมกู้อาคารเก่าคืน

คลายปมปัญหาโบราณสถานจ.แพร่ กรมศิลป์ยันไม่ใช่”บอมเบย์เบอร์มา” พร้อมกู้อาคารเก่าคืน นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการที่ ตน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมศิลปากร ประชุมหารือกับผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ภาคประชาสังคมและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในจ.แพร่ ในประเด็นการรื้อถอนอาคารป่าไม้เขตแพร่ หรือที่ประชาชนเข้าใจกันว่าเป็นอาคารบอมเบย์เบอร์มาร์ ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอนุรักษ์ต้นน้ำลุ่มน้ำยม โดยกรมศิลปากร ได้มีการรายงาน กระบวนการที่ได้เข้ามาตรวจสอบและศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า อาคารหลังดังกล่าว ไม่ใช่อาคารบอมเบย์เบอร์มาร์ แต่เป็นอาคารป่าไม้เขตแพร่หลังแรก ที่สร้างขึ้นเพื่อกำกับควบคุมกิจการการทำป่าไม้ของบริษัทต่างชาติในเมืองแพร่ในห้วงเวลานั้น เป็นประจักษ์พยานและเป็นหลักฐานเกี่ยวกับการเกิดอุตสาหกรรมป่าไม้ในจ.แพร่

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า กรมศิลปากร จึงได้สร้างความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาสังคม ซึ่งทุกฝ่ายให้การยอมรับ และเข้าใจตรงกัน โดยกรมศิลปากร ได้วางหลักการการรื้อฟื้นอาคารโดยคงความจริงแท้ของอาคาร ทั้งในเชิงรูปแบบ วัสดุ ฝีมือเชิงช่าง สถานที่ และการสื่อความหมายของอาคาร โดยแบ่งการทำงานในช่วงต้นเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.การจัดทำข้อมูลไม้ที่เป็นองค์ประกอบส่วนต่างๆของอาคาร โดยมีไม้โครงสร้างเดิมที่ใช้งานได้ 80% ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญทั้งคานเสาบ้านประตูซึ่งสามารถนำมาประกอบเข้าด้วยกันใหม่ได้ ส่วนไม้ที่ผุพังแล้ว 20% 2.การขุดตรวจทางโบราณคดี และ3.การสันนิษฐานรูปแบบและโครงสร้างของอาคารในสมัยต่างๆที่อาคารมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงรูปแบบ จึงขอยืนยัน ให้ภาคประชาชนมั่นใจได้ว่า จะได้อาคารรูปแบบเดิมกลับคืนมาอย่างมีหลักการทางวิชาการรองรับ อย่างแน่นอน และต่อจากนี้กรมอุทยาน ฯ จะมีการทำประชาพิจารณ์ กับภาคประชาสังคม เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นตามความต้องการของประชาชน และกรมอุทยานฯ ที่จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยกรมศิลปากรจะเป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการต่อไป

“เรามั่นใจว่าจะสามารถนำรูปแบบสถาปัตยกรรมเดิมคือกลับมาได้ทั้งหมดซึ่งจากการพูดคุยมีเสียงตอบรับดีมากจากทุกฝ่าย ซึ่งกรมอุทยานฯ พร้อมที่จะพูดคุยกับพื้นที่ท้องถิ่นและรับข้อเสนอมาปรับในการฟื้นฟูอาคารหลังนี้ เมื่อมีการพิจารณาและตัดสินใจในการก่อสร้างรูปแบบอาคารว่าในอนาคตอาคารหลังนี้จะใช้ประโยชน์ในด้านใดบ้าง ก็จะสรุปผลส่งต่อมายังกรมศิลปากร เพื่อนำโจทย์มาจัดสร้างอาคารให้ตรงกับความต้องการของทุกฝ่ายต่อไป”นายประทีป กล่าว

ขอบคุณที่มาและอ่านต่อ : Facebook At_HeaR ข่าวจริงเข้าหู

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่