ก.ค.ศ.ตอบความชัดเจน การคัดเลือกครูอาชีวะ กรณีพิเศษ ว.16
ก.ค.ศ.ตอบความชัดเจน การคัดเลือกครูอาชีวะ กรณีพิเศษ ว.16

ก.ค.ศ.ตอบความชัดเจน การคัดเลือกครูอาชีวะ กรณีพิเศษ ว.16 ต้องสอบผ่านภาค ก  ตามแนวทางของคณะกรรมการพลเรือน( ก.พ.) โดยตั้งแต่ปี 2564 การสอบภาค ก เพื่อคัดเลือกครู จะต้องไปสอบกับ ก.พ. อย่างไรก็ตามหากใครที่ผ่านข้อเขียนภาค ก และ ข มาได้ มาถึงภาค ค เชื่อว่า เราจะสามารถสกรีนคนเก่งมาเป็นครูอาชีวะได้แน่นอน

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.)เปิดเผยความคืบหน้าการจัดสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ (ว16) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) จำนวน 1,942 อัตรา ซึ่ง ได้มีการรับสมัครไปเมื่อวันที่ 1-7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า เนื่องจากมีผู้สนใจสมัครรับการคัดเลือกจำนวนมาก แต่ สอศ.ไม่ชัดเจนเรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร เช่น ครูอาชีวะเอกชน หรือ เจ้าหน้าที่ธุรการที่ไม่ได้ปฏิบัติการสอนสามารถสมัครได้หรือไม่ รวมถึงการนับชั่วโมงการสอนในช่วง 2-3 ปี จะนับอย่างไร เป็นต้น สอศ.จึงทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) เพื่อขอความชัดเจน ซึ่ง ก.ค.ศ.ได้ตอบมาแล้ว ว่า เจตนารมณ์ ของ การสอบคัดเลือกฯครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ นี้ ต้องการคนที่มีประสบการณ์มาเป็นครูผู้ช่วย เพราะฉะนั้นคนที่มีคุณสมบัติ ได้แก่ พนักงานราชการตำแหน่งครู ครูอัตราจ้างตำแหน่งครู โดยต้องมีประสบการณ์สอนไม่น้อยกว่า 3 ปี  โดยนับต่อเนื่องหรือนับรวมก็ได้ เพราะฉะนั้นกรณีครูอาชีวะเอกชนจึงไม่มีคุณสมบติในการสอบคัดเลือกครั้งนี้

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า หลังจากได้คำตอบจาก สำนักงาน ก.ค.ศ. แล้ว ขณะนี้ สอศ.กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ซึ่งเท่าที่ทราบคาดว่าคนที่สมัครมาแล้วไม่มีคุณสมบัติมีประมาณ 400-500 คน ซึ่งถือว่าไม่มาก อีกทั้งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็รู้ตัวอยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติ ที่มาสมัครแค่อยากมาลองข้อสอบ เพื่อไปรอสอบรอบทั่วไปที่ สอศ.จะเปิดต่อเนื่องหลังจากสอบรอบกรณีพิเศษเสร็จเรียบร้อย ซึ่งคาดว่า รอบกรณีพิเศษน่าจะประกาศรายชื่อผู้มีคุณสมบัติประมาณกลางเดือน พ.ย. และสอบคัดเลือกภายในเดือน พ.ย.นี้   ทั้งนี้ ในการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยของ สอศ.ปีนี้  ทั้งกรณีพิเศษ และกรณีทั่วไป ยังคงใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ดำเนินการ  จนกว่า สำนักงาน ก.ค.ศ.จะพัฒนาหลักเกณฑ์และประกาศเปลี่ยนแปลง สอศ.จึงจะนำมาใช้ ซึ่งหาก ก.ค.ศ.สามารถประกาศได้ทันการสอบครั้งนี้ สอศ.ก็จะนำใช้ทันที

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ต้องสอบผ่านภาค ก  ตามแนวทางของคณะกรรมการพลเรือน( ก.พ.) โดยตั้งแต่ปี 2564 การสอบภาค ก เพื่อคัดเลือกครู จะต้องไปสอบกับ ก.พ. ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการถือเป็นกระทรวงที่สองที่จะดำเนินการ ต่อจากกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า ใจจริงก็รู้สึกเป็นห่วงเรื่องการขาดครู เพราะจากสถิติคนสอบผ่านภาค ก ของ ก.พ.จะอยู่ที่ประมาณ 4-6% เท่านั้น อย่างไรก็ตามหากใครที่ผ่านข้อเขียนภาค ก และ ข มาได้ มาถึงภาค ค เชื่อว่า เราจะสามารถสกรีนคนเก่งมาเป็นครูอาชีวะได้แน่นอน  ซึ่ง สอศ.ไม่ห่วงเรื่องนี้ เพราะ การสอบภาค ค ของอาชีวะต้องเป็นการสอบปฏิบัติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นที่ห่วงมากจริงๆ คือ ภาค ก เพราะที่ผ่านมาสอบผ่านกันน้อยมาก

ขอบคุณที่มาและอ่านต่อ : เว็บไซต์ focusnews.in.th วันที่ 4 พ.ย. 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่