เกณฑ์วิทยฐานะใหม่ไม่เน้นเอกสารเตรียมคลอด พ.ค.นี้ ดูผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากห้องเรียนเป็นสำคัญ
เกณฑ์วิทยฐานะใหม่ไม่เน้นเอกสารเตรียมคลอด พ.ค.นี้ ดูผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากห้องเรียนเป็นสำคัญ

เกณฑ์วิทยฐานะใหม่ไม่เน้นเอกสารเตรียมคลอด พ.ค.นี้ ดูผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากห้องเรียนเป็นสำคัญ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม  นายอัมพร พินะสา  เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)  เปิดเผยว่า ตามที่ นายณัฏฐพล  ทีปสุวรรณ  รมว.ศึกษาธฺการ มอบหมายให้สำนักงานก.ค.ศ. ปรับปรุงร่าง หลักเกณฑ์การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใหม่

ซึ่งก.ค.ศ.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการศึกษาวิจัยปัญหาและเสนอแนวทางการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะใหม่  และ คณะอนุกรรมการ จัดทำวิทยฐานะใหม่ โดยใช้กรอบแนวคิดของรมว.ศึกษาธิการ  คือ ไม่เน้นการเขียนผลงานวิชาการ เอกสาร แต่ให้ ดูจากการปฏิบัติจริง ทั้งนี้คณะอนุกรรมการศึกษาวิจัย ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินบุคคลจากต่างประเทศมาให้ข้อคิดเห็น ซึ่งมีข้อสรุปตรงกันว่า การประเมินวิทยฐานะในอนาคต จะไม่เน้นการพิจารณาเอกสาร แต่จะเน้นผลการปฏิบัติงาน 

โดยในส่วนของข้าราชการครูจะยึดตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ หรือ ว 21/2560 การประเมินผลงานที่เกิดจากการปฎิบัติหน้าที่ตำแหน่งครูเป็นฐานในการพัฒนา แต่จะปรับเรื่องการประเมิน ซึ่งเดิมประเมินกระบวนการ เป็นเอกสาร เป็นดูผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากห้องเรียนเป็นสำคัญ

เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีการตั้งทีมวางแนวทางการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประเมิน ซึ่งจะใช้ได้สมบูรณ์เต็มรูปแบบกรณีที่ทุกโรงเรียนมีอินเตอร์เน็ต และระบบเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าของศธ.ซึ่งจะ เข้าถึงโรงเรียนทุกแห่งอย่างแท้จริง เพื่อให้ครูสามารถบันทึกการสอนเก็บไว้ในคลาวด์ส่วนตัว และนำการสอนที่บันทึกไว้ ใช้ในการประเมินวิทยฐานะได้ แต่ในช่วงที่เทคโนโลยียังไม่สมบูรณ์ ก็ต้องใช้วิธีการประเมินผลงานเชิงประจักษ์ไปก่อน แต่ผลงานเชิงประจักษ์ดังกล่าวไม่ได้หมายถึง รางวัล ผลงาน แต่ให้ผู้อำนวยการโรงเรียน ประเมินการปฏิบัติหน้าที่การสอนในตำแหน่งครู และผลที่เกิดกับผู้เรียน ส่วนการประเมินผู้อำนวยการโรงเรียน ก็จะสอดคล้องกัน โดยจะดูที่ผลงานของครู คือ ผลสัมฤทธิ์ของเด็ก ผลงานของครูก็เป็นตัวสะท้อนผู้อำนวยการโรงเรียน ต่างกันตรงที่ผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องจัดทำข้อตกลง ในการพัฒนา เช่นเมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้ว จะพัฒนาโรงเรียนไปในทิศทางใด และเด็กจะต้องมีผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้นในระดับใด โดยตั้งเป้าให้เกณฑ์ประเมินวิทยฐานะทั้งครู เกณฑ์ประเมินผู้อำนวยการโรงเรียนและเกณฑ์ประเมินศึกษานิเทศก์แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม ขณะเดียวกัน ต้องคำนึงถึงสิทธิของคนที่มีสิทธิจะยื่นตามเกณฑ์เดิมที่ประกาศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 ด้วย

นายอัมพร กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้ากรณีที่ผู้อำนวยการโรงเรียนกว่า 5,000 คน ร้องเรียนก.ค.ศ. กรณี ถูกพิจารณาให้เป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมินวิทยฐานะเกณฑ์ ว13 เรื่องการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ มีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ และวิทยาฐานะเชี่ยวชาญ ซึ่งเปิดให้ยื่นตั้งแต่ปี 2559 และได้รับแจ้งผลการพิจารณาว่าเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติในปี 2561 ทำให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาเสียสิทธินั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ก.ค.ศ.ได้แจ้งหนังสือไปยังส่วนราชการ รวมถึงมีการจัดประชุมวีดีโอคอนเฟอเรนซ์สร้างความเข้าใจ โดยให้ทุกคนที่ยื่นขอมีและเลื่อนวิทยฐานะ ว13 เมื่อปี2559 แล้ว ให้มีสิทธิยื่นทบทวนได้ทุกคน โดยผู้ที่เสียสิทธิสามารถส่งรายละเอียดให้พิจารณาภายใน 90 วัน หลังได้รับหนังสือแจ้ง จากก.ค.ศ. ซึ่งก.ค.ศ. ส่งหนังสือแจ้งไปเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมาแล้ว

ที่มาของข่าว : http://www.focusnews.in.th/6831

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่