มติ ก.ค.ศ. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารการศึกษา
มติ ก.ค.ศ. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารการศึกษา

มติ ก.ค.ศ. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารการศึกษา

ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 3/2564 ในวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 โดยมีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษา  ราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติ เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารการศึกษา ดังนี้

หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ผู้บริหารการศึกษา

1.เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์

         สืบเนื่องจาก ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ได้เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่งและทุกวิทยฐานะ เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และเพื่อให้ทันและสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงกับการจัดการศึกษาในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์ฯนี้ โดยได้มีการศึกษาข้อมูล การระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ และการนำผลการวิจัยมาเป็นฐานในการดำเนินการ รวมถึงได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว

         สำหรับตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ได้กำหนดลักษณะงานที่ปฏิบัติ 3 ด้าน คือ 1. ด้านนิเทศการศึกษา 2. ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา และ3. ด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ใหม่นี้  ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่าหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์กับศึกษานิเทศก์ ครู สถานศึกษา หน่วยงานการศึกษา และส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวิชาชีพศึกษานิเทศก์ เพื่อให้ศึกษานิเทศก์ได้พัฒนาตนเองให้มีความรู้และความเชี่ยวชาญ  ในการนิเทศการศึกษา มีการพัฒนาสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา ที่ส่งผลต่อผู้เรียนได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ศึกษานิเทศก์เข้าถึงครู ห้องเรียน สถานศึกษา และหน่วยงานการศึกษามากขึ้น ได้รับทราบสภาพปัญหาและความต้องการของห้องเรียน สถานศึกษา และหน่วยงานการศึกษา สามารถนำมากำหนดแผนพัฒนา การนิเทศการศึกษา หรือพัฒนาสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา ที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพการศึกษาได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้การประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ใหม่ เป็นการลดกระบวนการและขั้นตอน โดยการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ลดภาระในการจัดทำเอกสารและประหยัดงบประมาณเกี่ยวกับการประเมิน เกิดการเชื่อมโยงบูรณาการในระบบการประเมินวิทยฐานะ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนเงินเดือน และการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ โดยใช้ตัวชี้วัดเดียวกัน ทำให้ลดความซ้ำซ้อน และมี Big data ในการบริหารงานบุคคลสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดย (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ใหม่ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

         1. กำหนดให้ศึกษานิเทศก์ทุกคนทำข้อตกลงในการพัฒนางานกับผู้บังคับบัญชาชั้นต้น เป็นประจำทุกปี ซึ่งข้อตกลงในการพัฒนางาน ประกอบด้วย 2 ส่วน

         ส่วนที่ 1 ข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ

         ส่วนที่ 2 ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครู หรือการพัฒนาสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา ที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน

         โดยมีรอบการประเมินปีงบประมาณละ 1 ครั้ง ในแต่ละรอบการประเมินต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการบริหารงานบุคคล ได้แก่ ใช้เป็นคุณสมบัติในการขอรับการประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ใช้เป็นผลการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ (มาตรา 55) และใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมิน เพื่อพิจารณาเลื่อนเงินเดือน

         สำหรับการยื่นคำขอ ให้ยื่นได้ตลอดปี ภาคเรียนละ 1 ครั้ง โดยหากยื่นไว้แล้ว ต้องได้รับแจ้งมติไม่อนุมัติก่อน จึงจะยื่นในวิทยฐานะเดิมได้

         2. คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ

         1) มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามระยะเวลาในแต่ละวิทยฐานะ 

         2) มีการพัฒนางานตามข้อตกลง ในช่วงระยะเวลาย้อนหลัง 3 รอบการประเมิน

         3) ในช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งย้อนหลัง 4 ปี ต้องไม่เคยถูกลงโทษทางวินัยที่หนักกว่าโทษภาคทัณฑ์

         3. การประเมิน กำหนดให้มีการประเมิน 2 ด้าน สำหรับชำนาญการและชำนาญการพิเศษ

ด้านที่ 1 ด้านทักษะการวางแผนพัฒนาการนิเทศการศึกษา กลยุทธ์ สื่อ นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ในการนิเทศการศึกษา หรือการพัฒนาสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา ฯลฯ

ด้านที่ 2 ด้านผลลัพธ์ในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครู หรือการพัฒนาสถานศึกษา หรือหน่วยงานการศึกษา ที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน ฯลฯ

          สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษจะมีการประเมิน ด้านที่ 3 ด้านผลงานทางวิชาการ

          4. การยื่นคำขอ ให้ยื่นคำขอและหลักฐานประกอบการประเมินผ่านระบบการประเมินวิทยฐานะดิจิทัล (Digital Performance Appraisal : DPA)

         5. เกณฑ์การตัดสิน ในแต่ละด้านต้องได้คะแนนจากกรรมการแต่ละคน ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 สำหรับวิทยฐานะชำนาญการ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ร้อยละ 75 และร้อยละ 80 สำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ตามลำดับ

โดยหลักเกณฑ์และวิธีการฯ นี้ กำหนดให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 และยื่นคำขอผ่านระบบ DPA ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

2. เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบริหารการศึกษา

         สืบเนื่องจาก ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 ได้เห็นชอบการกำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่งและทุกวิทยฐานะ เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ  และเพื่อให้ทันและสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงกับการจัดการศึกษาในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของการจัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์นี้ โดยได้มีการศึกษาข้อมูล การระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการ และการนำผลการวิจัยมาเป็นฐานในการดำเนินการ รวมถึงได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว

         สำหรับตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา ได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบใหม่ โดยกำหนดลักษณะงานที่ปฏิบัติ 5 ด้าน คือ 1. ด้านการบริหารและความเป็นผู้นำ การพัฒนาการศึกษา 2. ด้านการบริหารจัดการและการพัฒนาองค์กร 3. ด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์และนวัตกรรม 4. ด้านการบริหารงานชุมชนและเครือข่าย และ 5. ด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ใหม่นี้  ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้เรียน ครู สถานศึกษา หน่วยงานการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา เพื่อให้ผู้บริหารการศึกษาได้พัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้นตามระดับวิทยฐานะ มีภาวะผู้นำในการบริหารวิชาการ และบริหารการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอน คุณภาพครู คุณภาพผู้เรียน และคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดความเชื่อมโยง(Alignment and Coherence) ในระบบการประเมิน และการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ ลดความซ้ำซ้อนและงบประมาณ และการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ โดยใช้ตัวชี้วัดเดียวกัน ทำให้ลดความซ้ำซ้อน นอกจากนี้ทำให้มี  Big data ในการบริหารงานบุคคล สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพโดย (ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการฯ ใหม่ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

        1. กำหนดให้ผู้บริหารการศึกษาทุกคนทำข้อตกลงในการพัฒนางานกับผู้บังคับบัญชาตามลำดับ ถึงส่วนราชการ ได้ตลอดปี ซึ่งข้อตกลงในการพัฒนางาน ประกอบด้วย 2 ส่วน

        ส่วนที่ 1 ข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ (ภารงานบริหาร  จัดการศึกษาและคุณภาพการปฏิบัติงาน)

       ส่วนที่ 2 ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน คุณภาพข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาและหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบ

        โดยมีรอบการประเมินปีงบประมาณละ 1 ครั้ง ในแต่ละรอบการประเมินต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการบริหารงานบุคคล ได้แก่ ใช้เป็นคุณสมบัติในการขอรับการประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะ ใช้เป็นผลการประเมินเพื่อคงวิทยฐานะ (มาตรา 55) และใช้เป็นองค์ประกอบในการประเมินเพื่อพิจารณาเลื่อนเงินเดือน

       สำหรับการยื่นคำขอ ให้ยื่นได้ตลอดปี ภาคเรียนละ 1 ครั้ง โดยหากยื่นไว้แล้ว ต้องได้รับแจ้งมติไม่อนุมัติก่อน จึงจะยื่นในวิทยฐานะเดิมได้

         2. คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ

         1) มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามระยะเวลาในแต่ละวิทยฐานะ 

         2) มีการพัฒนางานตามข้อตกลง ในช่วงระยะเวลาย้อนหลัง 1 รอบการประเมิน โดยต้องมีผลการประเมินที่นำมาเสนอขอ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70

         3) ในช่วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งย้อนหลัง 1 ปีต้องไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย ที่หนักกว่าโทษภาคทัณฑ์ หรือไม่เคยถูกวินิจฉัยชี้ขาดทางจรรยาบรรณวิชาชีพ ที่หนักกว่าภาคทัณฑ์

         3. การประเมิน กำหนดให้มีการประเมิน 2 ด้านสำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ

ด้านที่ 1 ด้านทักษะการวางแผนกลยุทธ์ การใช้เครื่องมือหรือนวัตกรรมทางการบริหาร

         ด้านที่ 2 ด้านผลลัพธ์ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา และหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบ

         สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษจะมีการประเมิน ด้านที่ 3 ด้านผลงานทางวิชาการ

          4. การยื่นคำขอ ให้ยื่นคำขอและหลักฐานประกอบการประเมินตามระบบปกติ

5. เกณฑ์การตัดสิน ด้านที่ 1 และด้านที่ 2 ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 สำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 และร้อยละ 80 สำหรับ วิทยฐานะเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ตามลำดับ สำหรับด้านที่ 3 ต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญ และไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ ก.ค.ศ.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่