ศาลปค.กลางพิพากษา ม.กรุงเทพธนบุรี ชดใช้ค่าเสียหายเปิดป.โท ศึกษาศาสตร์ ไม่ได้มาตรฐาน

ศาลปค.กลางพิพากษา ม.กรุงเทพธนบุรี ชดใช้ค่าเสียหายเปิดป.โท ศึกษาศาสตร์ ไม่ได้มาตรฐาน ศาลปกครองกลางพิพากษาให้มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ชดใช้ค่าเสียหาย 7.5 หมื่น ถึงแสนบาท กรณีเปิดสอนปริญญาโท หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุให้คณะกรรมการคุรุสภาไม่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาให้

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2563 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ข้าราชการครูฟ้องเรียกค่าเสียหายจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กรณีเปิดสอนปริญญาโท หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุให้คณะกรรมการคุรุสภาไม่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาให้ (รวม 18 สำนวนคดี)

ศาลปกครองกลางเห็นว่า แม้มาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จะบัญญัติให้สถานศึกษาเอกชนจัดการศึกษาได้ทุกระดับและทุกประเภทการศึกษาตามที่กฎหมายกำหนด และให้สถานศึกษาของเอกชนที่จัดการศึกษาระดับปริญญาดำเนินกิจการได้โดยอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษา และมาตรา 34 (7) แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 จะบัญญัติให้สภาสถาบันมีอำนาจในการอนุมัติการรับนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ที่เปิดการเรียนการสอนได้ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีจะสามารถดำเนินกิจการได้โดยอิสระในการอนุมัติเปิดรับนักศึกษาได้ตามอำเภอใจ เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ต่างมีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเอกชนแต่ละแห่งเปิดทำการเรียนการสอนในแต่ละสาขาวิชา และผลิตบัณฑิตในแต่ละสาขาได้อย่างมีคุณภาพ สามารถนำความรู้ความสามารถที่เล่าเรียนมา มาพัฒนาตนเองและสร้างสรรค์ประโยชน์ให้เกิดแก่สังคมและประเทศชาติ

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2554) ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ที่เสนอต่อคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ระบุกำหนดแผนการรับนักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาในระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 ถึง 2558 ไว้ว่า แผน ข ปีการศึกษาละ 490 คน การที่สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้รับนักศึกษา ในปีการศึกษา 2557 จำนวน 2,545 คน จึงเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เกินไปกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในแผนการรับนักศึกษาถึง 5 เท่า การกระทำดังกล่าวเป็นผลโดยตรงทำให้คุรุสภาพิจารณาไม่รับรองปริญญาและไม่อนุมัติการขอออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา การกระทำของมหาวิทยาลัยจึงเป็นการจงใจโดยมุ่งหวังต่อผลที่มหาวิทยาลัยจะได้รับจากรายได้ที่เกิดจากจำนวนนักศึกษาที่สมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรนี้เป็นจำนวนมาก โดยไม่คำนึงถึงภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐที่ให้จัดการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน และมหาวิทยาลัยควรคาดหมายได้ว่าการกระทำดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดผลเสียหายที่จะเกิดแก่นักศึกษา เมื่อปรากฏว่าคณะกรรมการคุรุสภามีมติไม่ให้การรับรองปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา แผน ข เฉพาะนักศึกษาที่เข้าศึกษาในปี 2557 จึงรับฟังได้ว่าการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ในปีการศึกษา 2557 ไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร อันเกิดจากการที่มหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องหรือกระทำการนอกเหนือไปจากหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นการกระทำโดยจงใจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากผู้ฟ้องคดีสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว ก็จะไม่สามารถที่จะนำวุฒิการศึกษาที่ได้รับไปขอออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาจากคุรุสภาตามที่ตั้งใจไว้ได้อย่างแน่แท้ ดังนั้น การกระทำของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีจึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิทธิของผู้ฟ้องคดี ต้องขาดโอกาสในการสมัครเพื่อเลื่อนระดับเป็นผู้บริหารสถานศึกษาในอนาคต และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี

อย่างไรก็ดี แม้วุฒิทางการศึกษาที่ผู้ฟ้องคดีได้รับจะไม่สามารถนำไปยื่นขอการรับรองมาตรฐานความรู้ ตามข้อบังคับคุรุสภา ว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพ พ.ศ. 2556 ได้ แต่ผู้ฟ้องคดีก็ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นจากการเรียน อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐหรือภาคเอกชนไม่เชื่อถือจนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายนอกเหนือจากกรณีดังกล่าว การศึกษาจึงยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟ้องคดีอยู่พอสมควร ประกอบกับขณะที่ผู้ฟ้องคดีเข้ารับการศึกษา ผู้ฟ้องคดียังมิได้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะสมัครสอบคัดเลือกเป็นผู้บริหารสถานศึกษา

ดังนั้น เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษาให้มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องคดีแต่ละราย ดังนี้

(1) ค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตลอดหลักสูตร ในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าลงทะเบียนตามหลักสูตร จำนวน 137,000 บาท เป็นเงิน 68,500 บาท

(2) ค่าใช้จ่ายในการจัดทำงานค้นคว้าอิสระ เป็นเงิน 7,500 บาท และ

(3) ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียน ซึ่งกำหนดค่าเสียหายให้ในอัตราร้อยละ 50 ของจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
(รวมค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีแต่ละรายจะได้รับเป็นเงินประมาณคนละ 75,000 ถึง 100,000 บาท)

ขอบคุณที่มาของข่าว : สำนักข่าวอิศรา 31 มกราคม 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่