ผอ.สทศ. สพฐ. ตอบ 4 ข้อ คำถามหลักจากการประชุม Video Conference เรื่องการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน- การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่-การสอบระดับชาติ
ผอ.สทศ. สพฐ. ตอบ 4 ข้อ คำถามหลักจากการประชุม Video Conference เรื่องการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน- การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่-การสอบระดับชาติ

ผอ.สทศ. สพฐ. ตอบ 4 ข้อ คำถามหลักจากการประชุม Video Conference เรื่องการวัดและประเมินผลในชั้นเรียน- การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่-การสอบระดับชาติ

สรุปการตอบ4ข้อคำถามหลักจากการประชุม Video Conference กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อวันที่ 30 เม.ย.63 และการประชุม Video Conference กับสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ 7 พ.ค.63

1.การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ปีงบประมาณ 2563 จะมีแนวทางอย่างไร
2. การสอบระดับชาติ (NT และ O-NET) จะมีการเปลี่ยนแปลงและเข้มข้นเหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่
3. สถานการณ์ในช่วง COVID-19 การวัดและประเมินผลในชั้นเรียนควรจะทำอย่างไร
4. สถานการณ์ในช่วง COVID-19 การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ปีการศึกษา 2563 จะมีหรือไม่

2 คำถาม จากการประชุมฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.63

1. การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ปีงบประมาณ 2563 จะมีแนวทางอย่างไร

คำตอบ (ร่าง) แนวทางการดำเนินงานประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) จากการประชุมคณะกรรมอนุกรรมการขับเคลื่อนการประกันคุณภาพการศึกษา ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) อาคารพญาไทพลาซ่า กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.63 สรุปได้ดังนี้

1. จากแผนการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ปีงบประมาณ 2563 เดิมของ สมศ. สรุปได้ว่ามีจำนวนสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ในระบบ) ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ปีงบประมาณ 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,929 แห่ง โดยในจำนวนนี้เป็นสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1,749 แห่ง ซึ่งสถานศึกษาเหล่านี้จะต้องเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบที่สี่ ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 กันยายน 2563 และสถานศึกษากลุ่มเป้าหมายดังกล่าว จะต้องจัดส่งรายงานการประเมินตนเอง (SAR) ปีการศึกษา 2561 สำหรับใช้การประเมินคุณภาพภายนอกแก่หน่วยงานต้นสังกัด ภายในวันที่ 30 เมษายน 2563

2. แต่เนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 (COVID-19) และกระทรวงศึกษาธิการมีการขยายเปิดปิดภาคเรียนของสถานศึกษาในสังกัดและกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ (เปิดเรียนเป็น 1 ก.ค.63) รวมทั้งได้มีการประกาศมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 ของรัฐบาล จึงส่งผลกระทบต่อแผนการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ประจำปีงบประมาณ 2563 ของ สมศ. ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้มีข้อเสนอแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) ประจำปีงบประมาณ 2563 ดังนี้

2.1 ให้ปรับแผนการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ประจำปีงบประมาณ 2563 ของ สมศ.ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 (COVID-19)

2.2 ให้ สมศ. วิเคราะห์รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ารับการประเมิน ประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 3,929 แห่งว่าควรใช้รูปแบบการประเมินหรือแนวทางการประเมินแบบใด คือ การประเมินที่ไม่ต้องลงพื้นที่ประเมิน (Non Visit) การประเมินที่ลงพื้นที่แบบบางส่วน (Partial Visit) หรือการประเมินลงพื้นที่แบบเต็มรูปแบบ (Full Visit)

2.3 เมื่อทราบว่าสถานศึกษากลุ่มเป้าหมายแต่ละแห่งควรใช้รูปแบบการประเมินแบบใดแล้ว ให้คณะผู้ประเมินสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับสถานศึกษาต่าง ๆ เหล่านั้น ให้เข้าใจและมีความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และเมื่อทำการ Pre-Analysis รายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษาแล้วพบว่า สถานศึกษาใดที่ไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ไปประเมิน (Non Visit) ผู้ประเมินก็ต้องมีการ feedback ให้สถานศึกษานั้นรับทราบข้อมูลและเกิดการพัฒนาต่อยอดด้วย และถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในบางประเด็น ให้ทีมผู้ประเมินวิเคราะห์และ focus ข้อมูลประเด็นหลักที่ต้องการให้ชัดเจนตรงประเด็น แล้วใช้วิธีการโทรศัพท์พูดคุย สอบถาม และนัดหมายวันเวลาในการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม

2.4 ในกรณีที่มีการไปประเมินสถานศึกษาแบบบางวัน (Partial Visit) หรือประเมินแบบเต็มรูปแบบ (Full Visit) กับกลุ่มสถานศึกษาที่สามารถเปิดเรียนเปิดสอนได้ตามปกติ ไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ให้คณะผู้ประเมินและสถานศึกษาดำเนินการประเมินโดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

2.5 ให้ สมศ.สร้างความเข้าใจและประสานงานกับหน่วยงานต้นสังกัด (ทั้งส่วนกลางและเขตพื้นที่การศึกษา) หากผู้ประเมินต้องการข้อมูลบางประเด็นของสถานศึกษาเพิ่มเติมที่หน่วยงานต้นสังกัดสามารถให้ข้อมูลได้ รวมทั้งแจ้งให้สถานศึกษารับรู้ข้อมูลล่วงหน้าเกี่ยวกับแผนการเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม

2.6 ปรับลดวันที่ประเมินให้น้อยที่สุดแต่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ครอบคลุมในทุกด้านที่ทำการประเมิน ซึ่งอาจลดเหลือวันที่ใช้ในการประเมินเพียงจำนวน 1-2 วัน

2.7 ให้ผู้ประเมินยึดแนวคิดการประเมินเพื่อพัฒนา ลดภาระการประเมินกับสถานศึกษา และหลีกเลี่ยงกิจกรรมการดำเนินงานต่างๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น การจัดนิทรรศการ การจัดทำและขึ้นป้ายต้อนรับ การจัดกิจกรรมการแสดงต่าง ๆ ของนักเรียน เป็นต้น

2.8 ให้ สมศ. สะท้อนผลการประเมินให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษารับทราบ เพื่อใช้ผลการประเมินเพื่อการพัฒนา โดยมีการสังเคราะห์ผลประเมินในประเด็นต่างๆ ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เช่น คุณภาพของโรงเรียน โครงการ/กิจกรรมดีเด่นของโรงเรียน กระบวนการพัฒนาคุณภาพ ปัจจัยความสำเร็จ แนวทางการพัฒนาต่อยอด จุดแข็งและจุดที่ควรพัฒนาของสถานศึกษา เป็นต้น

2.9 ใช้คณะผู้ประเมินในเขตพื้นที่นั้นๆ ทำการประเมินสถานศึกษาในเขตพื้นที่นั้นๆ (เลี่ยงการข้ามจังหวัดประเมิน) เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทางข้ามจังหวัด

2.10 สร้างมาตรฐานของผู้ประเมินให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน น่าเชื่อถือ และเสนอสถิติ ข้อมูลปัญหาที่เกิดจากทีมผู้ประเมิน รวมทั้งข้อทักท้วงต่างๆ จากการประเมินสถานศึกษา

2.11 งดการประเมินกับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1,749 แห่ง ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ารับการประเมินของปีงบประมาณ 2563 จนถึงช่วงก่อนเปิดภาคเรียน 2563 (1 ก.ค.63) เพื่อให้สถานศึกษามีเวลาเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียน ก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563

3.ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 วันที่ 1 พ.ค.62 ยังกำหนดให้มีการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยระบบการประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอก โดยให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปีนับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย โดยที่รอบของการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) จะครบรอบการประเมินในปี พ.ศ.2563 และปัจจุบันยังมีสถานศึกษาอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) ดังนั้น อาจต้องรอความชัดเจนในเชิงนโยบายและเป็นไปตามข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ว่าจะยกยอดจำนวนสถานศึกษาที่ยังไม่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ไปสู่การประเมินคุณภาพภายนอกรอบห้า (พ.ศ.2564-2568) หรือไม่อย่างไรต่อไป

2. การสอบระดับชาติ (NT และ O-NET) จะมีการเปลี่ยนแปลงและเข้มข้นเหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่

คำตอบ
1. การทดสอบระดับชาติ (NT และ O-NET) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการเทียบเคียงมาตรฐานการจัดการศึกษาทั้งประเทศว่าเป็นไปตามเป้าหมายของหลักสูตรหรือไม่อย่างไร โดยที่กระบวนการจัดการสอบจะต้องมีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ และสะท้อนถึงคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานหลักสูตร ดังนั้น หน่วยงานที่จัดสอบ ทั้งสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หน่วยงานที่จัดสอบ NT ชั้น ป.3) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (หน่วยงานที่จัดสอบ O-NET ชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6) จะต้องมีมาตรฐานและเข้มข้นเหมือนปีที่ผ่านๆ มา ทั้งในด้านการพัฒนาแบบทดสอบที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามกรอบโครงสร้างของหลักสูตรแกนกลางฯ การบริหารจัดการสอบของศูนย์สอบที่โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ การรายงานผลการสอบที่เป็นระบบ และการนำผลสอบไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เป็นต้น

2. เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) ส่งผลต่อการเปิดปิดภาคเรียน ประจำปีการศึกษา 2563 ของสถานศึกษา ดังนั้น หน่วยงานที่จัดสอบระดับชาติจะได้พิจารณาถึงช่วงเวลาของการทดสอบระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2563 ตามสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปอีกครั้งหนึ่ง โดยให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการเลื่อนเวลาเปิดปิดภาคเรียนของสถานศึกษา และสอดคล้องกับช่วงเวลาที่สถาบันอุดมศึกษาจำเป็นต้องใช้ผลการทดสอบ O-NET ของนักเรียนชั้น ม.6 ในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าแนวโน้มสถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ ไม่เสี่ยงต่อการสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่นักเรียน การจัดสอบ NT และ O-NET ก็จะเป็นไปตามแนวทางการบริหารจัดการสอบในปีที่ผ่านมา และก็มีความพยายามที่จะใช้นวัตกรรมทางด้านการสอบเพิ่มมากขึ้น เช่น การวิจัยและพัฒนาระบบการทดสอบออนไลน์ การนำ AI มาช่วยตรวจกระดาษคำตอบอัตนัยของผู้เรียน รวมถึงการนำข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการทดสอบสู่การปฏิบัติ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการทดสอบให้น้อยลง การลดความเครียดและวิตกกังวลของนักเรียนจากการสอบจำนวนมาก เป็นต้น

ประเด็นฝากให้รู้ถึงความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างข้อเสนอเพื่อปรับการทดสอบระดับชาติ (O-NET)
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อปรับระบบการทดสอบระดับชาติในขณะนี้มีหลายประการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานวิเคราะห์ความเป็นไปได้และนำข้อเสนอเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในหลายประเด็นไปยังหน่วยงานที่จัดสอบ O-NET เช่น
1. วิธีการสอบใช้การสุ่มสอบหรือสมัครใจของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ส่วนนักเรียนชั้น ม.6 ใช้การสอบทุกคน (หากจำเป็นต้องใช้ผล ONET ในการคัดเลือกเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา)
2. รูปแบบการสอบใช้วิธีการสุ่มสอบหรือสมัครใจสำหรับนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 โดยเริ่มใช้วิธีการสุ่มสอบหรือสมัครใจ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563
3. รูปแบบของข้อสอบ O-NET ควรยึดโยงกับการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ครอบคลุมพฤติกรรมและเป้าหมายการเรียนรู้ตามหลักสูตร (ความรู้ความคิด ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะ)

เนื่องมาจากเหตุผลในหลายประการดังนี้
1.ข้อกำหนดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 “มาตรา 26 กำหนดไว้ว่า
“ให้สถานศึกษาจัดการประเมินผู้เรียนโดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ สังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรม และการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอนตามความเหมาะสมของแต่ละระดับและรูปแบบการศึกษา”
“ให้สถานศึกษาใช้วิธีการที่หลากหลายในการจัดสรรโอกาสการเข้าศึกษาต่อ และให้นำผลการประเมินผู้เรียนตามวรรคหนึ่งมาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย”
ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามมาตรา 26 ข้างต้น มิได้กำหนดให้การสอบระดับชาติต้องดำเนินการจัดสอบกับนักเรียนทุกคน และการกำหนดให้สถานศึกษาใช้วิธีการที่หลากหลายในการจัดสรรโอกาสการเข้าศึกษาต่อ ก็มิได้ระบุว่าเป็นการสอบระดับชาติ แต่สถานศึกษารวมทั้งมหาวิทยาลัย สามารถใช้วิธีการตามวรรคหนึ่ง เช่น แฟ้มสะสมผลงาน การสัมภาษณ์ การสอบภาคปฏิบัติ เป็นต้น มาประกอบการพิจารณาได้

2.การประเมินระดับชาติเน้นการประเมินความรู้เป็นหลัก ทำให้การเรียนการสอนของการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งหมดถูกเตรียมการเพื่อการประเมินระดับชาติ ที่เน้นวัดและประเมินความรู้ ทฤษฎี และยังมีการจัดสอบหลายวิชา หลายครั้ง ซึ่งเป็นการสอบที่เน้นความรู้ทฤษฎีเช่นเดียวกัน เพียงแต่ลุ่มลึกต่างกัน ส่งผลให้นักเรียนมีความเครียด และยังทำให้วงจรการพัฒนาผู้เรียนขาดการพัฒนาในทุกมิติ ดังนั้น การสอบ O-NET ควรมุ่งให้ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพัฒนาผู้เรียน การดำเนินการจัดสอบ O-NET ด้วยวิธีการสุ่มสอบหรือสมัครใจ จะทำให้การนำผล O-NET ไปใช้เพื่อการพัฒนาผู้เรียนได้อย่างแท้จริง และไม่สามารถนำคะแนนจากการสอบ O-NET ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์

3.วัตถุประสงค์ของ O-NET คือ ต้องการเทียบเคียงมาตรฐานการจัดการศึกษาทั้งประเทศว่าเป็นไปตามเป้าหมายของหลักสูตรหรือไม่อย่างไร จึงไม่จำเป็นต้องวัดกับนักเรียนทุกคน ขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำลังพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในการจัดการเรียนการสอน สื่อการสอน และการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ที่มิใช่การวัดและประเมินผลที่เน้นเนื้อหาอีกต่อไป ดังนั้น หน่วยงานที่จัดการสอบระดับชาติ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทั้งรูปแบบ วิธีการ และการบริหารจัดการสอบ เพื่อให้การวัดและประเมินผลในทุกระดับสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

4.การดำเนินการสอบ O-NET แบบสุ่ม จะทำให้รูปแบบข้อสอบแบบเขียนตอบถูกนำมาใช้มากขึ้น หรือแม้แต่การสัมภาษณ์ การสอบภาคปฏิบัติ อาจสามารถดำเนินการได้ อีกทั้งยังทำให้มิติการประเมินทักษะกระบวนการและคุณลักษณะถูกนำมาประเมินในข้อสอบระดับชาติได้ และทำให้รูปแบบของข้อสอบ O-NET ยึดโยงกับการเรียนการสอนในห้องเรียน ที่ครอบคลุมพฤติกรรมและเป้าหมายการเรียนรู้ตามหลักสูตรอย่างแท้จริง

5.หากมีการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการสอบที่ใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาช่วย ทั้งการออกข้อสอบ การตรวจข้อสอบอัตนัย ก็สามารถลดคนทำงาน ไม่ดึงครูออกนอกชั้นเรียน และสามารถใช้ศูนย์สอบของ สทศ. และประสานความร่วมมือกับ สพฐ. ในการใช้ศูนย์ HRDC ในการจัดสอบได้

6.ปัจจุบันสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยมีที่นั่งเพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน จึงไม่จำเป็นต้องคัดเลือกนักเรียน ดังนั้น O-NET อาจไม่มีความจำเป็นไปใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในหลายๆ คณะ

ดังนั้น ความเป็นไปได้ของข้อเสนอเพื่อให้มีการปรับระบบการทดสอบระดับชาติ (O-NET) ก็ต้องได้รับการพิจารณาและตัดสินใจจากระดับนโยบาย และเสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพื่อปรับระบบการทดสอบเป็นไปตามเป้าหมายและเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติอย่างแท้จริง

2 คำถาม จากการประชุมฯเมื่อวันที่ 30 เม.ย.63

1. สถานการณ์ในช่วง COVID-19 การวัดและประเมินผลในชั้นเรียนควรจะทำอย่างไร

คำตอบ
1.จากแนวคิดเชิงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสรุวรรณ) ในช่วง COVID-19 ที่กล่าวไว้ว่า “การเรียนรู้ของนักเรียนทุกคนจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเท่าเทียมกัน เพราะการเรียนรู้นำการศึกษา โรงเรียนอาจหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้” ประกอบกับในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) โดยที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมีนโยบายให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล โดยให้พิจารณารูปแบบการศึกษาทางไกลให้ขึ้นอยู่กับสภาพบริบท ความเหมาะสม และความปลอดภัยของพื้นที่แต่ละแห่ง

2.จากแนวคิดและแนวปฏิบัติเชิงนโยบายดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าเมื่อการเรียนรู้ของนักเรียนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง ทั้งสถานที่จัดการเรียนรู้ และเวลาที่เรียนรู้ โดยที่การวัดและประเมินผลผู้เรียนก็ควบคู่ไปพร้อมกับการจัดการเรียนรู้ของครูเช่นเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้การวัดและประเมินผลสามารถสะท้อนคุณภาพของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 2561 และสามารถนำผลไปใช้พัฒนาผู้เรียนได้อย่างแท้จริง แนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลในชั้นเรียนด้วยการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) ก็ควรดำเนินการดังต่อไป (ให้คำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19)

2.1 การวัดและประเมินผลผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา
เนื่องจากผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา มีธรรมชาติและความซับซ้อนของพฤติกรรมการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การวัดและประเมินผลผู้เรียน จึงต้องกำหนดรูปแบบและวิธีการให้เหมาะสมกับธรรมชาติและระดับความรู้ความสามารถของผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา ดังนี้

2.1.1 ระดับปฐมวัย เป็นการประเมินที่มุ่งเน้นตรวจสอบพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับการจัดการเรียนให้กับเด็กในระดับการศึกษานี้ ยังไม่มุ่งเน้นการอ่านและการเขียนเป็นหลัก สรุปแนวปฏิบัติได้ดังนี้
-การวัดและประเมินผลเด็ก ใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรม การพูดคุย การซักถาม การตรวจสอบชิ้นงาน เป็นต้น ครูผู้สอนจำเป็นต้องจัดทำแบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบตรวจสอบรายการ และแบบประเมินพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของผู้เรียน
-มีการประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินพัฒนาการของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
-ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในการจัดส่งข้อมูลสารสนเทศผลการประเมินพัฒนาการหรือพฤติกรรมของผู้เรียนย้อนกลับให้ครูผู้สอนผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ
-สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของเด็ก เพื่อประเมินและตรวจสอบพัฒนาการของเด็กได้อีกด้วย

2.1.2 ระดับประถมศึกษา เป็นการประเมินที่มุ่งเน้นตรวจสอบความรู้ความสามารถ ทักษะ
และคุณลักษณะของผู้เรียน ตามมาตรฐานและตัวชี้วัดในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 การจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนในระดับการศึกษานี้ จึงมุ่งเน้นให้มีความรู้ความสามารถทั้งด้านความรู้ ความคิด ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถทั้งด้านการอ่าน การเขียน และการสื่อสารด้วยวิธีการต่าง ๆ สรุปแนวปฏิบัติได้ดังนี้
-การวัดและประเมินผลผู้เรียน ใช้วิธีการและรูปแบบที่หลากหลายผสมผสานกันไป เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจผลงาน การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน และการทดสอบ เป็นต้น
-ครูผู้สอนจัดทำเครื่องมือวัดและประเมินผลให้ผู้เรียนเป็นผู้ส่งข้อมูลสารสนเทศผลการประเมินย้อนกลับให้ครูผู้สอน
-ประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผู้เรียน
-สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียน เพื่อตรวจสอบและประเมินความสามารถของผู้เรียน
-มีการจัดทำตารางนัดหมายผู้เรียนเป็นกลุ่มเพื่อประเมินผลการทำกิจกรรมร่วมกัน
-มีการใช้แบบทดสอบรูปแบบต่าง ๆ ในการวัดและประเมินผู้เรียนตามความเหมาะในแต่ละระดับชั้น

2.1.3 ระดับมัธยมศึกษา เป็นการประเมินที่มุ่งเน้นตรวจสอบความรู้ความสามารถ ทักษะและคุณลักษณะของผู้เรียน ตามมาตรฐานและตัวชี้วัดในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 การจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนในระดับการศึกษานี้ จึงมุ่งเน้นให้มีความรู้ความสามารถทั้งด้านความรู้ ความคิด ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถทั้งด้านการอ่าน การเขียน และการสื่อสารด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งผู้เรียนยังมีความสามารถในด้านการใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างดี สรุปแนวปฏิบัติได้ดังนี้

-การวัดและประเมินผลผู้เรียนจึงต้องใช้วิธีการและรูปแบบที่หลากหลายผสมผสานกันไป เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจผลงาน การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน และการทดสอบ
-อาจมีทั้งการทดสอบโดยใช้ข้อสอบและกระดาษคำตอบ การทดสอบโดยใช้ระบบการสอบออนไลน์ การทดสอบโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เป็นต้น
-มีการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สำหรับการบริหารจัดการทดสอบและประเมินผู้เรียน ดังนั้นในการวัดและประเมินผล ครูผู้สอนสามารถจัดระบบให้ผู้เรียนสามารถส่งข้อมูลสารสนเทศผลการประเมินย้อนกลับได้ด้วยตนเองไปให้ครูผู้สอน โดยใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) หรือช่องทางการสื่อสารอื่น ๆ
-ประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผู้เรียน
-สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียนเพื่อประเมินและตรวจสอบความรู้ความสามารถของผู้เรียน
-จัดทำตารางนัดหมายผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อทำกิจกรรมการเรียนการสอนควบคู่กับการวัดและประเมินผล ทั้งที่สถานศึกษาและที่บ้านนักเรียน

2.2 การวัดและประเมินผลตามพฤติกรรมของมาตรฐานและตัวชี้วัด
เนื่องจากมาตรฐานและตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 แต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออก 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ (Knowledge) ด้านทักษะกระบวนการ (Process skill) และด้านคุณลักษณะ (Attribute) ดังนั้น การวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียน จำเป็นต้องกำหนดรูปแบบวิธีการให้เหมาะสมกับพฤติกรรมที่ต้องการวัด ดังนี้

2.2.1 ด้านความรู้ (Knowledge) สรุปแนวปฏิบัติได้ดังนี้
-การวัดและประเมินผลใช้การทดสอบเป็นหลัก ซึ่งข้อสอบที่ใช้ในการทดสอบมีทั้งข้อสอบแบบเลือกตอบและข้อสอบแบบเขียนตอบ ควรใช้วิธีการทดสอบที่หลากหลาย ได้แก่ การใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ทั้งรูปแบบออนไลน์และรูปแบบที่ไม่ได้เชื่อมต่อในคอมพิวเตอร์เครือข่าย (ออฟไลน์) โดยให้ผู้เรียนสอบที่บ้าน
-มีการมอบหมายงาน นัดหมายเป็นกลุ่ม สำหรับการใช้ข้อสอบแบบเลือกตอบ ควรจัดทำชุดข้อสอบตามมาตรฐานและตัวชี้วัด และมีการนัดหมายช่วงเวลาในการทดสอบกับผู้เรียนล่วงหน้า
-การทดสอบด้วยข้อสอบแบบเขียนตอบ ควรกำหนดให้ผู้เรียนเขียนคำตอบลงในกระดาษคำตอบแล้วจัดส่งข้อมูลการทำข้อสอบมาให้ครูผู้สอนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ
-สามารถวัดพฤติกรรมด้านความรู้ของผู้เรียนผ่านการทำรายงานที่สะท้อนถึงพฤติกรรมตามตัวชี้วัดจัดส่งรายงานย้อนกลับมายังครูผู้สอน ผ่านระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ

2.2.2 ด้านทักษะกระบวนการ (Process skill) สรุปแนวปฏิบัติได้ดังนี้
-การวัดและประเมินผลใช้การประเมินภาคปฏิบัติเป็นหลัก เน้นการประเมินตามสภาพจริงที่บ้าน ใช้แบบประเมินการปฏิบัติงาน แบบตรวจสอบรายการ แบบบันทึกผลงาน และแบบบรรยายการปฏิบัติงาน เป็นต้น
-วิธีการจัดส่งงานสามารถใช้การถ่ายวีดิทัศน์ การถ่ายรูปภาพผลงาน การบันทึกเสียง โดยประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินทักษะกระบวนการของผู้เรียน
-สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียนเพื่อประเมินและตรวจสอบความสามารถด้านทักษะและการปฏิบัติงานของผู้เรียน
-มอบหมายงานเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ให้ปฏิบัติงานทั้งที่บ้านหรือสถานศึกษา เพื่อจะได้ทำการประเมินทักษะการปฏิบัติงานของผู้เรียน

2.2.3 ด้านคุณลักษณะ (Attribute) สรุปแนวปฏิบัติได้ดังนี้
-การวัดและประเมินผลใช้การสังเกตและตรวจสอบพฤติกรรมเป็นหลัก เครื่องมือวัดและประเมินผู้เรียนมีหลากหลายประเภท เช่น แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบตรวจสอบรายการ และแบบประเมินตนเอง เป็นต้น
-ควรประสานขอความร่วมมือกับผู้ปกครองในการประเมินพฤติกรรมของผู้เรียนผ่านการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรมที่บ้าน การมอบหมายให้ปฏิบัติงาน เป็นต้น
-สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียนเพื่อประเมินและตรวจสอบคุณลักษณะของผู้เรียน
-มีการมอบหมายงานให้ผู้เรียนปฏิบัติงาน นัดหมายร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อสังเกตพฤติกรรมและตรวจสอบคุณลักษณะของผู้เรียน

2.3 การวัดและประเมินผลแต่ละจุดมุ่งหมาย
การวัดและประเมินผลผู้เรียนมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ 1) การวัดและประเมินผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนา (Formative Assessment) และ 2) การวัดและประเมินผลเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ (Summative Assessment) ดังนั้น ครูผู้สอนควรกำหนดรูปแบบและแนวทางในการวัดและประเมินผลในแต่ละจุดมุ่งหมาย ดังนี้

2.3.1 การวัดและประเมินผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนา เป็นการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอนตลอดปีการศึกษา/ภาคเรียน สรุปแนวปฏิบัติได้ดังนี้
-ออกแบบและวางแผนเกี่ยวกับวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผลตามมาตรฐานและตัวชี้วัดในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยใช้วิธีการประเมินผลที่หลากหลาย เช่น การทดสอบ การสังเกตพฤติกรรม การสอบปากเปล่า การสัมภาษณ์หรือการซักถาม การเขียนสะท้อนการเรียนรู้ การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินด้วยแฟ้มสะสมงาน การประเมินตนเอง การประเมินตามสภาพจริง เป็นต้น
-วัดและประเมินผลผู้เรียนในแต่ละช่วงเวลาของการจัดการเรียนรู้ พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลผลการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
-มีการประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผลและสะท้อนผลการเรียนรู้ (Feedback) กลับไปยังครูผู้สอนอย่างต่อเนื่อง
-ควรจัดทำแนวทางการพัฒนาตนเองของผู้เรียน มีการนำเสนอองค์ความรู้ที่ได้หรือแหล่งข้อมูลในการพัฒนาตนเองของผู้เรียน เพื่อมอบหมายให้นักเรียนปฏิบัติงาน
-จัดส่งข้อมูลผลการประเมินย้อนกลับไปให้ครูผู้สอนผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ

2.3.2 การวัดและประเมินผลเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ เป็นการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนหลังสิ้นสุดปีการศึกษา/ภาคเรียน สรุปแนวปฏิบัติได้ดังนี้
-ควรกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดสำคัญที่ผู้เรียนจำเป็นต้องรู้และสามารถสะท้อนคุณภาพผู้เรียนตลอดปีการศึกษา/ภาคเรียน
-การทดสอบควรใช้วิธีการหรือรูปแบบการทดสอบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับจำนวนและลักษณะธรรมชาติของผู้เรียน เช่น การใช้โปรแกรมทดสอบสำเร็จรูปในการทดสอบแบบออนไลน์ที่สะดวกและง่ายต่อการเข้าถึง การจัดทำชุดข้อสอบตามมาตรฐานและตัวชี้วัด แล้วนัดหมายช่วงเวลาในการทดสอบกับผู้เรียนล่วงหน้า
-นัดหมายผู้เรียนมาสอบเป็นกลุ่มย่อย ๆ
-จัดส่งข้อสอบให้ผู้เรียนทำที่บ้าน แล้วจัดส่งกลับคืนครูผู้สอนผ่านช่างทางการสื่อสารต่าง ๆ เป็นต้น
-ครูผู้สอนสามารถเลือกใช้ข้อสอบมาตรฐานที่มีการให้บริการจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ระบบคลังข้อสอบมาตรฐาน (SIBS) ระบบคลังข้อสอบตามแนวทางการทดสอบ PISA (PISA Online Testing) ที่สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพัฒนาขึ้น ทั้งในการวัดและประเมินผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนาและการวัดและประเมินผลเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ได้อีกด้วย

2.2 การตัดสินผลการเรียนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ให้ยึดตามแนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดขึ้น โดยการตัดสินผลการเรียนใช้ผลการประเมินระหว่างปี/ภาคเรียนและผลการประเมินปลายปี/ภาคเรียน ตามสัดส่วนที่สถานศึกษากำหนด

2. สถานการณ์ในช่วง COVID-19 การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ปีการศึกษา 2563 จะมีหรือไม่

คำตอบ จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสรุวรรณ) ในช่วง COVID-19

“เพิ่ม (เวลาพัก)
ลด (ประเมิน)
งด (กิจกรรมที่ไม่จำเป็น)”

1.จากข้อกำหนดเชิงนโยบายและสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังกล่าวข้างต้น คิดว่าน่าจะส่งผลต่อแผนการลงพื้นที่เพื่อประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ปีการศึกษา 2563 ของ สมศ. (ความชัดเจนน่าจะมีมากขึ้นจากการประชุมอนุกรรมการฯ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 พ.ค.63) เพราะการประเมินคุณภาพภายนอกต้องดูความพร้อมของสถานศึกษาเป็นหลัก จะต้องให้สถานศึกษามีความพร้อมในด้านต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าจากการประเมินที่ผ่านๆ มา เป็นการประเมินที่ผู้ประเมินลงไปประเมิน ณ สถานศึกษา เพื่อตรวจสอบการบริหารจัดการของผู้บริหารสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอนของครู และการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป บางพื้นที่อาจมีการจัดการเรียนรู้ที่บ้าน หรืออาจมีครูและผู้บริหารอยู่ที่โรงเรียน หรือบริหารจัดการและจัดการเรียนรู้ที่บ้านทั้งหมด เมื่อวิธีการบริหารจัดการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงไป และยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะส่งต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ดังนั้น ในช่วงเวลานี้ ก็ต้องประสานงาน และประชุมหารือเพื่อความชัดเจนของแนวทางจาก สมศ.อีกครั้งหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ภารกิจที่ให้สถานศึกษาจัดส่งรายงานการประเมินตนเอง ของปีการศึกษา 2561 ก็จำเป็นต้องดำเนินการต่อไป

2.ตามที่ สพฐ. ได้มีหนังสือราชการแจ้งไปยังเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เพื่อให้จัดส่งรายชื่อสถานศึกษาและรายงานผลการประเมินตนเอง (SAR) ปีการศึกษา 2561 เพื่อ สมศ.จะได้นำรายงานไปวางแผนวิเคราะห์และเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ ปีการศึกษา 2563 ทั้งนี้ สถานศึกษาสามารถจัดส่งรายงานผ่านระบบ e-SAR ซึ่งเป็นระบบที่ สพฐ. และ สมศ. ร่วมกันพัฒนา โดยระบบสามารถเชื่อมโยงการรายงานไปยังระบบ AQA ของ สมศ. ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว ได้ให้สถานศึกษา uploads ไฟล์รายงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 เม.ย.2563 นั้น จากข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน 2563 พบว่า การจัดส่ง SAR ปีการศึกษา 2561 ผ่านระบบออนไลน์ e-SAR ของสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. (จำนวนสถานศึกษาทั้งหมด 29,865 แห่ง) สรุปได้ดังนี้
2.1 มีสถานศึกษาในสังกัด จัดส่ง SAR จำนวน 20,256 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 67.83)
2.2 มีสถานศึกษาในสังกัด ไม่ได้จัดส่ง SAR จำนวน 9,609 แห่ง (คิดเป็นร้อยละ 32.17)

3. แม้ว่าแนวโน้มการลงพื้นที่ประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ของ สมศ.อาจงด หรืออาจเปลี่ยนแปลงกำหนดวันเวลา หรืออาจจะพัฒนาวิธีการประเมินภายนอกแบบใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดเชิงนโยบาย และเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในข่วงนี้ก็ตาม แต่ทั้งนี้ก็ขอความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมรับผิดชอบในการดำเนินงานจัดส่ง SAR ปีการศึกษา 2561 เพื่อหน่วยงานต้นสังกัด สมศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จะได้มีข้อมูลผลการประเมินคุณภาพภายใน สำหรับใช้ในการวางแผน พัฒนา และดำเนินงานอื่นๆ ต่อไป รวมทั้งเป็นไปตามข้อกำหนดที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561
3.1 ฝาก ผอ.สพท. กำกับติดตามการดำเนินงานของบุคลากรที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่การศึกษา
3.2 ฝาก ผอ.รร.รับผิดชอบดำเนินการจัดส่ง
3.3 ฝากคุณครูมีส่วนร่วมกับการดำเนินงาน

4.ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 คิดว่าควรให้สถานศึกษา focus เรื่องการจัดการเรียนการสอนเป็นหลัก ให้ผู้บริหารและครูมีเวลาในการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการเรียนรู้ช่วงเปิดเทอม (1 ก.ค.2563) รวมทั้ง งด หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนกิจกรรมอื่น ๆ ที่ยังไม่จำเป็นในช่วงนี้ออกไปพลางก่อน

ขอบคุณที่มา : เพจ วิษณุ ผอ.สทศ.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่