ประธานกมว.ผุดข้อบังคับเรียนวิชาชีพครูใหม่!! อุดช่องโหว่ หลักสูตรป.บัณฑิต
ประธานกมว.ผุดข้อบังคับเรียนวิชาชีพครูใหม่!! อุดช่องโหว่ หลักสูตรป.บัณฑิต

ประธานกมว.ผุดข้อบังคับเรียนวิชาชีพครูใหม่!! อุดช่องโหว่ หลักสูตรป.บัณฑิต นำหลักสูตรวิชาชีพครูของคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ระดับปริญญาตรี 4 ปีมาใช้ ทยอยเรียนเป็นรายวิชาจบภายใน 1 สัปดาห์ ปฎิบัติการสอนอีก 1 ปีจากนั้นมาขอสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกับคุรุสภาได้เลย 

เมื่อวันที่ 8 ก.พ.รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เปิดเผยว่า ในการประชุมกมว.เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่างข้อบังคับหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู โดยมีตนเป็นประธาน ซึ่งคณะอนุกรรมการฯชุดนี้ที่ตั้งขึ้น เพื่อเข้ามาอุดช่องโหว่ของการเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า การเปิดหลักสูตรป.บัณฑิตของบางสถาบันอาจคำนึงถึงรายรับมากกว่าคุณภาพผู้เรียน โดยผู้เป็นครูได้จะต้องปฎิบัติการสอนในวิชาเฉพาะได้ แต่กลับพบว่าผู้เรียนป.บัณฑิต กว่า20% เรียนอย่างหนึ่งแต่ไปสอนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง

ประธานกมว.กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่คุรุสภาให้การรับรองหลักสูตรป.บัณฑิตในปี 64 ไปแล้วนั้นก็ไม่เป็นไร แต่หากประกาศข้อบังคับหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูออกเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ได้เมื่อไหร่ เชื่อว่าสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรป.บัณฑิตจะสลายตัวไปเอง โดยที่ผ่านมาตนเคยชี้แจงกับคุรุสภาไปแล้วว่าไม่ควรให้การรับรองหลักสูตรป.บัณฑิตอีก เพราะมีกระบวนการพัฒนาวิชาชีพครูใหม่ที่สามารถให้ผู้ที่ไม่ได้จบจากคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ได้มาเป็นครูได้ แต่คุรุสภาอ้างว่าไม่มีข้อบังคับทางกฎหมายที่จะไม่ให้การรับรอง ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯที่ตั้งขึ้นนี้จึงเข้ามาเพื่ออุดช่องโหว่ดังกล่าว ทั้งนี้ผู้ที่ยังเรียนหลักสูตรป.บัณฑิตอยู่ก็ไม่ต้องกังวลถือว่ายังไม่เสียสิทธิ

“สำหรับข้อบังคับหลักเกณฑ์และวิธีการรับรองหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูนี้ จะไม่เหมือนกับการเรียนหลักสูตรป.บัณฑิต เพราะจะนำหลักสูตรวิชาชีพครูของคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ระดับปริญญาตรี 4 ปีมาใช้ เนื่องจากการเรียนหลักสูตรครูจะมีวิชาเรียนทั้งหมด 33 หน่วยกิต และในจำนวนนี้เป็นวิชาด้านการสอน 12 หน่วยกิต กับวิชาชีพครู 21 หน่วยกิต ซึ่งก็จะนำวิชาชีพครู 21 หน่วยกิตนี้มาใช้เป็นหลักสูตรการเรียน โดยจะไม่นำมาใช้เรียนทั้งหมด 21 หน่วยกิต แต่จะให้ทยอยเรียนเป็นรายวิชาจบภายใน 1 สัปดาห์เหมือนกับการเรียนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) และเมื่อเรียนวิชาชีพครูครบแล้วก็มาปฎิบัติการสอนอีก 1 ปีจากนั้นมาขอสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกับคุรุสภาได้เลย 

ดังนั้นจึงมีความแตกต่างกับหลักสูตรป.บัณฑิตที่ทำงานก่อนแล้วต้องมานั่งเรียนวันเสาร์-อาทิตย์ แต่หลักสูตรนี้เรียนให้จบหลักสูตรรอบเดียว ซึ่งจะทำให้มั่นใจว่าเราได้ครูผู้สอนที่มีคุณภาพอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามผมจะรีบดำเนินการเรื่องนี้เสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อให้มหาวิทยาลัยนำไปใช้เปิดสอนได้ทันในเดือนก.ค.นี้’ รศ.ดร.เอกชัย กล่าว

ขอบคุณที่มาและอ่านต่อที่ : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่