นักวิชาการเสนอหยุดเรียนทั่วประเทศ 1 ปี เหตุเรียนออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ งานวิจัยชี้เด็กเครียด ทำโดดเรียน 20%
นักวิชาการเสนอหยุดเรียนทั่วประเทศ 1 ปี เหตุเรียนออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ งานวิจัยชี้เด็กเครียด ทำโดดเรียน 20%

นักวิชาการเสนอหยุดเรียนทั่วประเทศ 1 ปี เหตุเรียนออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ งานวิจัยชี้เด็กเครียด ทำโดดเรียน 20%

มติชนออนไลน์ วันที่ 9 สิงหาคม 2564 ระบุว่า รองคณบดีศึกษาฯ มก.เสนอให้หยุดเรียนทั่ว ปท. 1 ปี เหตุเรียนออนไลน์ไร้ประสิทธิภาพ กระทบ ‘เด็กปฐมวัย-ประถม’ มาก ‘สมพงษ์’ นักวิชาการศึกษา เผยผลวิจัยชี้เด็กไทยเครียด โดดเรียนออนไลน์ 20% เปิดผลสำรวจทั่วโลกชี้เรียนออนไลน์ 1 ปี การศึกษาถดถอย 50% จี้ ‘ตรีนุช’ กล้าตัดสินใจ เลิกกลัวเกินเหตุ

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า จากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 อาจจะส่งผลกระทบให้นักเรียนอาจต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์อย่างน้อย 1-2 ปีนั้น มองว่าอาจเกิดขึ้นได้จริง แต่ขณะนี้ปัญหาใหญ่ของการเรียนออนไลน์ คือ เด็กทั่วประเทศโดดเรียนออนไลน์กว่า 20% ทำให้เห็นว่าการเรียนออนไลน์ทำให้เด็กเครียดจนต้องโดดเรียน ดังนั้น ถ้ายังจะต้องเรียนออนไลน์ต่ออีก 1 ปี คิดว่าการศึกษาไทยน่าเป็นห่วงอย่างมาก ทั้งในเชิงคุณภาพ ความถดถอยทางการศึกษา และสุขภาพจิตของเด็ก

“ทั่วโลกมีการศึกษาเรื่องผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ พบข้อมูลที่ตรงกันคือ ถ้าเด็กต้องเรียนออนไลน์ จะเกิดความถดถอยทางการศึกษาประมาณ 20-50% ดังนั้น หากต้องให้เด็กเรียนออนไลน์ต่ออีก 1 ปี เป็นทางเลือกที่ไม่เห็นด้วย การตัดสินใจที่จะให้เด็กเรียนออนไลน์ หรือรูปแบบอื่นนั้น เป็นการตัดสินใจที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำลังกลัว และตระหนกจนเกินไป” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า ระบบการศึกษาไทยเป็นระบบอนุรักษนิยม ที่ติดกรอบ ติดระเบียบไปหมด บวกกับความกลัวการแพร่ระบาดขอเชื้อโควิด-19 ทำให้ระบบการศึกษาหดตัว ถดถอย จึงกลายเป็นความกลัวเกินเหตุ ทำให้การจัดการศึกษาไม่ตอบสนองกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง สถานศึกษาต้องปรับการเรียนการสอนตาม 5 รูปแบบที่ ศธ.กำหนด คือ On-site, On-air, On-demand, On-line และ On-hand แทนการสอบปกติแทบทั้งหมด

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าเด็กติดเชื้อโควิด-19 จำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่พบข้อมูลเด็กเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้น อยากเสนอให้ ศธ.นำเงินสร้างโรงพยาบาลสนาม หรือศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานศึกษา มาจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา และเด็กทั่วประเทศจะดีกว่า ถ้า ศธ.ยังไม่หาวัคซีนมาให้เด็ก และดึงเวลาโดยให้เด็กเรียนออนไลน์ จะสร้างความเลวร้ายต่อระบบการศึกษาของประเทศอย่างมาก

“ศธ.กลัวเกินเหตุ แก้ไขปัญหาด้วยการหยุดเรียน หรือจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เหมือนกับ ศธ.กำลังปฏิเสธความรับผิดชอบ ที่ผ่านมา ศธ.ตัดสินใจโดยยึดว่าต้องไม่ให้เด็กเสี่ยง หรือเกิดอันตรายกับเด็ก แต่ผมว่า ศธ.ตัดสินใจโดยไม่ดูข้อมูลอย่างรอบด้าน และ ศธ.ไม่ไม่ได้เตรียมการอะไรเพื่อเด็กเลย ได้แต่ตัดสินใจบนข้อมูลด้านเดียวเท่านั้น และการตัดสินใจของ ศธ.ที่ผ่านมา ก็ตัดสินใจบนฐานที่ต้องให้ถูกวิจารณ์น้อยที่สุด แต่ไม่มองโลกทัศน์ภายนอกของการศึกษาเลย แต่ถ้า ศธ.คลายล็อก เชื่อมั่นในระบบของครู และผู้บริหารโรงเรียน และจัดหาวัคซีนให้เด็กทุกคน การเรียนการสอนจะหลากหลายมากขึ้น เด็กสามารถเรียนในโรงเรียนได้ปกติ” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า การเตรียมการที่ผ่านมาของ ศธ.ทำให้เห็นว่าการตัดสินใจต่างๆ ยึดส่วนกลางเป็นหลัก ไม่ได้ยึดโรงเรียน และเด็กเป็นหลักเลย ศธ.มองแค่ว่าจะออกนโยบายอะไรที่จะได้รับแรงกระทบจากการเมืองให้น้อยที่สุดเท่านั้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดผลเสียต่อคุณภาพ ต่อชีวิต ต่อสุขภาพของนักเรียนอย่างมหาศาล ศธ.ได้คำนึงถึงส่วนนี้หรือไม่ มองว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ติดอยู่กับระบบราชการ ติดอยู่กับการทำงานที่ต้องได้รับกระแสวิพาษ์วิจารณ์ให้น้อยที่สุด ขอให้ น.ส.ตรีนุช อย่ากลัวเกินเหตุ ต้องกล้าตัดสินใจ ต้องคิดถึงผลเสียทางการศึกษาที่เกิดขึ้นกับเด็ก และตลาดแรงงานด้วย อย่าคิดแต่ว่าต้องออกนโยบายที่ทำให้ ศธ.อยู่รอดปลอดภัยจากการวิจารณ์เท่านั้น

น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า หากต้องเรียนออนไลน์ต่ออย่างน้อย 1-2 ปี จะส่งผลกระทบต่อเด็กในระดับปฐมวัย และประถมศึกษาอย่างมาก เพราะเด็กเหล่านี้ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้คล่อง การเรียนต้องเน้นพัฒนาการเป็นหลัก แต่ถ้าเด็กในระดับมัธยม ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต้องเรียนออนไลน์ต่อ อาจไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าใด เพราะเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีอยู่ มองว่าการเรียนออนไลน์จะเหมาะกับกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ แต่ไม่เหมาะกับวิชาที่ต้องฝึกปฏิบัติ วิชาคำนวณ วิชาวิทยาศาสตร์ที่ต้องทดลองเรื่องต่างๆ เพราะการเรียนออนไลน์เป็นเพียงแต่เสริมความสะดวกให้เด็กสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลาเท่านั้น

“ถ้าจะต้องเรียนออนไลน์ต่ออย่างน้อย 1-2 ปี ผมมองว่ารัฐควรจัดสรรคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตให้เด็กด้วย หากรัฐช่วยส่วนนี้ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ส่วนครูที่ต้องลงพื้นที่ตรวจดูนักเรียน ครูเหล่านี้อาจพบปัญหา พบความลำบากที่ต้องเดินทางไปหาเด็ก ซึ่งต้องใช้เวลา และใช้แรงอย่างมาก ถ้าผู้ปกครองคนไหนดูแลลูกได้ ก็อาจช่วยครูโดยการดูแลให้ความรู้ลูก เพื่อให้ครูเข้าไปหาเด็กที่มีปัญหาจริงๆ และรัฐจะสามารถจัดสรรค่าเดินทางให้ครูที่ต้องลงพื้นที่หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าในเวลานี้ครูทำงานมาก” น.ท.สุมิตรกล่าว

น.ท.สุมิตรกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่หยุดการเรียนการสอนไป 1 ปี เพราะถ้าต้องเรียนออนไลน์ต่อ การเรียนจะไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีคุณภาพ ซึ่งการหยุดเรียนทั้งระบบการศึกษา และเริ่มใหม่ในปีหน้า จะช่วยทำให้การเรียนการสอนมีคุณภาพ แต่หากหยุดเรียน 1 ปี จะมีผลกระทบเรื่องการเสียโอกาส และเสียเวลาด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่ารัฐจะตัดสินใจอย่างไร ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลักด้วย

ขอบคุณที่มา : ข่าวมติชนออนไลน์ วันที่ 9 สิงหาคม 2564 – 07:25 น.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่