สพฐ. จี้ โรงเรียนเร่งรวมเลขบัญชีผู้ปกครอง หลังครม.อนุมัติช่วย 2พันบาท
สพฐ. จี้ โรงเรียนเร่งรวมเลขบัญชีผู้ปกครอง หลังครม.อนุมัติช่วย 2พันบาท

สพฐ. จี้ โรงเรียนเร่งรวมเลขบัญชีผู้ปกครอง หลังครม.อนุมัติช่วย 2พันบาท

ข่าวสดออนไลน์ ระบุว่า วันที่ 4 ส.ค.2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความห่วงใยครูและนักเรียน เพราะภายใต้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่สอนของครูอย่างมาก เพราะเดิมที่จะงดการเรียนการสอนในโรงเรียน แต่ปัจจุบันนักเรียน ต้องเรียนที่บ้าน

นายอัมพร กล่าวต่อว่า ดังนั้นรูปแบบการจัดการศึกษาจึงมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าใจถึงปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้เป็นอย่างดี ดังนั้นเพื่อให้ครูมีเวลาจัดการเรียนการสอน และมีเวลาดูแลนักเรียน สพฐ. จึงวางแผนทำแนวทางลดภาระครูและนักเรียนขึ้น พร้อมกับเสนอให้ รมว.ศธ. พิจารณา ซึ่ง น.ส.ตรีนุช ให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว ต่อไปสพฐ. จะจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อลดภาระครูและนักเรียน ส่งไปยังสถานศึกษาต่อไป

นายอัมพร กล่าวอีกว่า สพฐ. ได้เข้าไปศึกษาว่าอะไรเป็นสาเหตุ หรือเป็นปัจจัยที่ทำให้ครูมีภาระงานจำนวนมาก จากการศึกษาพบว่าส่วนกลางมีโครงการต่าง ๆ ลงไปให้โรงเรียนปฏิบัติจำนวนมาก โดยมีโครงการทั้งหมด 225 โครงการ และมีกิจกรรมที่ต้องประเมินและรายงานจำนวนมาก เพื่อสร้างความผ่อนคลาย และเปิดโอกาศให้ครูไม่เครียดกับการรายงาน หรืองานอื่น ๆ และมามุ่งเน้นการสอนมากขึ้น

นายอัมพร กล่าวว่า สพฐ. จะชะลอการดำเนินการกิจกรรม และโครงการต่าง ๆ รวมถึงชะลอการประเมินต่าง ๆ ไป เพื่อให้ครูได้ทำการสอนอย่างเต็มที่ จึงขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผู้บริหารโรงเรียน นำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติตามด้วย นอกจากนี้ สพฐ. ได้ปลดล็อกระเบียบในการใช้เงินอุดหนุน เพื่อให้ครูเบิกเงินมาใช้จ่ายให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ

“เบื้องต้นแนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอนและการวัดประเมินผลเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สพฐ.วางแผนไว้ มีดังนี้ จากเดิม การเรียนการสอนปกติที่กำหนดให้สอน 8 กลุ่มสาระวิชา สอนทุกตัวชี้วัด แต่ละวิชามีการบ้านที่แยกกัน ครูมีบทบาทหลักในการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ นับเวลาเรียนในชั้นเรียน ส่วนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ จะเน้นการสอบ จะมีการสอบย่อย สอบกลางภาค สองปลายภาค แต่การสอนในสถานการณ์โควิด-19 จะเปลี่ยนไป คือ เน้นการสอนวิชาหลัก ส่วนวิชาอื่นให้บูรณาการร่วมกัน ตัวชี้วัดก็เปลี่ยนไป ให้ครูเน้นสอน ตัวชี้วัดต้องรู้และบูรณาการให้เข้ากับวิถีชีวิตของนักเรียน บทบาทของครูต้องเปลี่ยน โดยครูและผู้ปกครองจะร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ให้นักเรียน” นายอัมพร กล่าว

นายอัมพร กล่าวต่อว่า ส่วนการบ้านขอให้เท่าที่จำเป็น และครูควรมาบูรณาการร่วมกันในการออกการบ้านให้นักเรียน ส่วนการนับเวลาเรียนเปลี่ยนไป โดยจะนับเวลาเมื่อนักเรียนเรียนรู้ เช่น การเรียนออนไลน์ การทำการบ้าน และการออกกำลัง เป็นต้น ส่วนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ให้เน้นหลักฐานการเรียนรู้มากกว่าการสอน เช่น ภาระงาน การบ้าน พฤติกรรมของนักเรียน เป็นต้น คาดว่าแนวปฏิบัตินี้จะช่วยลดความเครียดให้ครู นักเรียน และผู้ปกครองได้

เลขาธิการ สพฐ. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ครม. ได้อนุมัติโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภาคการเรียน ที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โดยในมาตรการที่ 1 ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้นักเรียนและนักศึกษาทุกคนทุกกลุ่ม ในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนทั้งในและนอกสังกัด ศธ.รวมทั้งสิ้น 10,952,960 คน โดยให้ความช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อคนในภาคการศึกษาที่ 1/2564 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประสานงานระหว่าง ศธ. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เมื่อศธ.ได้รับเงินมาแล้วจะ โอนไปให้ สพท.ทันที ซึ่งสพท.จะส่งเงินต่อไปให้โรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนนำเงินไปถึงมือผู้ปกครองโดยตรงและไวที่สุด

“จึงขอให้โรงเรียนเตรียมข้อมูลของนักเรียน รายชื่อผู้ปกครอง บัญชีของผู้ปกครองไว้ล่วงหน้าด้วย นอกจากนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้สนับสนุนค่าอินเตอร์เน็ตในการเรียนให้กับนักเรียนเป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจเบอร์มือถือของนักเรียนที่ใช้อินเตอร์เน็ตในการเรียนที่บ้าน จึงขอความร่วมมือโรงเรียนรวบรวมเบอร์ของนักเรียนทุกคนที่เรียนออนไลน์จากที่บ้าน เพื่อให้ดีอีเอส ได้ส่งเงินสนับสนุนให้นักเรียนโดยเร็ว” เลขาธิการ สพฐ. กล่าว

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 4 ส.ค.2564

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่