คุรุสภาย้ำผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ไม่ดี ต้องขึ้นบัญชีดำ!
คุรุสภาย้ำผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ไม่ดี ต้องขึ้นบัญชีดำ!

คุรุสภาย้ำผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ไม่ดี ต้องขึ้นบัญชีดำ!

คุรุสภาขานรับนโยบายรมว.ศึกษาธิการ เดินแผนรุกรณรงค์กระตุ้นจิตวิญญาณครู หวังเรียกศรัทธาในวิชาชีพกลับคืนมา หลังมีข่าวครูอย่างต่อเนื่อง “ดิศกุล” ย้ำการขึ้นบัญชีดำช่วยสกัดคนไม่ดีกลับเข้าสู่วิชาชีพ พร้อมเล็งขยายการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสื่อกลางส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพทางการศึกษา

ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ตามที่น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายเร่งด่วนต้องการทำให้โรงเรียนทุกแห่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) สำหรับนักเรียน และดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิดต่อนักเรียน เนื่องจากมีข่าวในเชิงลบของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาเกิดขึ้นบ่อยครั้งนั้น ในส่วนของคุรุสภาซึ่งกำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ทำงานเชิงรุกเพื่อเรียกศรัทธากลับคืนมา เช่น การกำหนดให้หน่วยงานต้นสังกัดของครูที่ถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ไล่ออก หรือปลดออก จะต้องส่งข้อมูลมาให้คุรุสภา เพื่อดำเนินการทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ โดยเสนอคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) หากกมว.มีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแล้วก็จะบันทึกลงในฐานข้อมูลเสมือนการขึ้นบัญชีดำ(Blacklist) เพื่อป้องกันการกลับเข้าสู่วิชาชีพ แม้เปลี่ยนชื่อสกุลก็สามารถตรวจสอบได้จากหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งจะทำให้สังคมเกิดความมั่นใจในผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษามากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาประพฤติผิดจรรยาบรรณ โดยเฉพาะความผิดทางเพศ การทุจริต และพัวพันยาเสพติด ก็สามารถแจ้งกล่าวโทษมาได้ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

ดร.ดิศกุล กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมายังได้ปรับปรุงข้อบังคับต่างๆ เช่น ลดกระบวนการสอบสวนทางจรรยาบรรณให้เสร็จจากภายใน 180 วัน เป็น 90 วัน หรือการพักใช้ใบอนุญาตจากเดิมที่พักได้แค่ 60 วัน ก็ให้พักไว้จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมและพัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณอีกหลากหลาย เช่น การสร้างความร่วมมือกับสถาบันผลิตครูเข้าร่วมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาจรรยาบรรณของวิชาชีพผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Ethics in Professional Learning Community) หรือ E-PLC ซึ่งเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมให้นิสิต/นักศึกษาครูได้เรียนรู้การเป็นครูที่ดีจากครูพี่เลี้ยงครูต้นแบบในระหว่างการฝึกสอนทั้งการออกแบบการเรียนรู้และจรรยาบรรณวิชาชีพ ซึ่งตั้งแต่ปี 2560 มีผู้ผ่านการพัฒนาไปแล้วกว่า 60,000 คน รวมถึงการผลิตสื่อส่งเสริมจรรยาบรรณในรูปแบบคลิปวิดีโอและภาพยนตร์สั้นมากกว่า 40 ชิ้น เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เว็บไซต์คุรุสภา ช่องยูทูปคุรุสภา เฟซบุ๊กแฟนเพจคุรุสภา เพจครูดี 360 องศา และเพจ Trainflix และยังจัดทำ 9 บทเรียนจรรยาบรรณวิชาชีพออนไลน์ ซึ่งมีสถาบันผลิตครูและสถานศึกษาจำนวนมากนำไปใช้ และเมื่อปี 2563 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ก็ให้ความสนใจขอนำบทเรียนไปใช้ประกอบการจัดกิจกรรมเสริมสร้างหลักสูตรเพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ให้แก่นิสิต/นักศึกษาครูในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จำนวน 3,099 คน และในอนาคตยังจะเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปเข้ามาเรียนออนไลน์ได้อีกด้วย

“นอกจากนี้ มีการจัดหลักสูตรผู้นำจรรยาบรรณให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ไปกว่า 1 หมื่นคนแล้ว และยังมีกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ อีกอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ตระหนักถึงการเป็นต้นแบบที่ดีให้แก่ศิษย์และสังคม และในอนาคตยังอาจจะมีรายการทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือรายการโทรทัศน์เพื่อนำข่าวเชิงบวกออกไปสู้กับข่าวเชิงลบ และเป็นเวทีกลางให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาทุกสังกัดได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อช่วยกันพัฒนาและส่งเสริมจรรยาบรรณวิชาชีพให้ปรากฎผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นกำลังสำคัญหลักในการพัฒนาประเทศได้ต่อไปในอนาคต” ดร.ดิศกุล กล่าว


ที่มา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่