กพฐ. ชี้หลักสูตรใหม่ ทันใช้นำร่อง กลุ่มโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก่อน ปี กศ.63 และจะใช้จริงทั่วประเทศ ปี กศ.65
กพฐ. ชี้หลักสูตรใหม่ ทันใช้นำร่อง กลุ่มโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก่อน ปี กศ.63 และจะใช้จริงทั่วประเทศ ปี กศ.65

กพฐ. ชี้หลักสูตรใหม่ ทันใช้นำร่อง กลุ่มโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก่อน ปี กศ.63 และจะใช้จริงทั่วประเทศ ปี กศ.65 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม กพฐ.ว่า ที่ประชุมหารือเรื่องการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จะมาแทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550 โดยจะบรรจุพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และเป้าหมายการศึกษาชาติ รวมถึงกำหนดสมรรถนะเด็ก 6 ด้าน ประกอบด้วย การจัดการตนเอง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การคิดขั้นสูง และการเป็นพลเมืองที่เข็มแข็ง ซึ่งใน 6 สมรรถนะนี้ โครงสร้างหลักสูตรจะกำหนดไว้ว่าถ้าต้องการให้เด็กมีสมรรถนะด้านไหน เด็กควรจะมีการเรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งการเรียนรู้จะปรับเปลี่ยนไปด้วย หลังจากนี้ในต้นเดือนมกราคม 2563 ที่ประชุมกพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะนำโครงสร้างหลักสูตรเสนอเพื่อขอความคิดจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หากเห็นด้วย สพฐ.จะใส่รายละเอียดหลักสูตรฐานสมรรถนะ ใน 6 สมรรถนะต่อไป เพื่อให้เสร็จทันนำร่องใช้ในปีการศึกษา 2563 ในกลุ่มโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก่อน และจะใช้จริงทั่วประเทศในปีการศึกษา 2565 ทั้งนี้ เนื้อหาที่จะถูกกำหนดในแต่ละกลุ่มสมรรถนะจะไม่เน้นเนื้อหาวิชา ต่อไปจะเน้นการเรียนแบบสมรรถนะแทน

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้หารือในประเด็นการทดสอบเช่นกันว่าข้อสอบของการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต จะต้องเป็นไปตามหลักสูตรใหม่เช่นกัน คือ ควรเน้นสมรรถนะมากกว่าเน้นเนื้อหาวิชาการ ทั้งนี้ก่อนปรับใช้หลักสูตรใหม่ในปีการศึกษา 2565 ระหว่างนั้น น่าจะมีการปรับเปลี่ยนข้อสอบโอเน็ตบางส่วนที่สามารถเน้นสมรรถนะได้ด้วย นอกจากนี้ที่ประชุมหารือว่าไม่ควรจะใช้คะแนนโอเน็ตมาประเมินเด็ก ครูและผู้บริหาร แต่ควรใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเด็กแทน

“ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า การสร้างหลักสูตรใหม่นั้น ไม่ยากเท่ากับการพัฒนาครู ดังนั้นในอนาคตมหาวิทยาลัยตามภูมิภาค น่าจะเป็นกลุ่มที่จะดูแลพัฒนาครูให้มีความชำนาญในการการสอนหลักสูตรใหม่ด้วย” นายเอกชัยกล่าว

ด้านนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ หลายคนกังวลว่าจะเตรียมครูเพื่อรองรับการใช้หลักสูตรใหม่อย่างไร ทาง สพฐ.ได้หารือกับผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ซึ่งทาง อว.ยินดีที่ให้มหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยพัฒนาครูเพื่อรองรับหลักสูตรใหม่ และทาง สพฐ.มีศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (อีริค) ประจำอยู่ตามจังหวัดต่างๆ จะถูกเปลี่ยนเป็นศูนย์ในการพัฒนาครูเพื่อรองรับการสอนหลักสูตรใหม่ โดยที่ครูจะไม่เสียเวลาเดินทางไปอบรมไกลถึงต่างจังหวัด

ขอบคุณเนื้อหาข่าว : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 13 ธันวาคม 62

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่