กพฐ.ชงใช้ระบบ FSQLs ประเมินคุณภาพของผู้เรียน
กพฐ.ชงใช้ระบบ FSQLs ประเมินคุณภาพของผู้เรียน

กพฐ.ชงใช้ระบบ FSQLs ประเมินคุณภาพของผู้เรียน

รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่ประชุมได้นำเสนอโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจากนายดิลกะ ลิทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ของธนาคารโลก

ซึ่งมีองค์ประกอบมาตรฐานขั้นพื้นฐานในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพของโรงเรียน (Fundamental School Quality Levels (FSQLs) 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.ประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรงเรียน 2.อำนาจอิสระและธรรมาภิบาลของโรงเรียน 3.โครงสร้างพื้นฐาน 4.ความเสมอภาคทางการศึกษา 5.คุณภาพและประสิทธิภาพการสอนครู 6.ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และ7.การมีส่วนร่วมของชุมชน โดยนำรูปแบบ FSQLs เพื่อนำมาใช้ประเมินสถานศึกษามาใช้เป็นเครื่องมือ และดูว่าโรงเรียนต่าง ๆ มีองค์ประกอบครบทั้ง 7 ด้านหรือไม่

ซึ่งจะนำไปสู่การจัดสรรงบประมาณในอนาคตของโรงเรียน โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการควบรวมสถานศึกษาด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาการของบประมาณอาจจัดสรรให้ตามความคิดและความจำเป็น แต่จากนี้ไปเรานำ FSQLs มาใช้ในการจัดสรรงบฯด้วย ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักนวัตกรรมการศึกษา สพฐ.นำไปจัดทำรายละเอียดแล้ว หากสำเร็จจะมีการทดลองนำร่องใช้ระบบ FSQLs ในโรงเรียนเขตพื้นที่นวัตกรรมต่อไป

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการกพฐ.กล่าวว่า ตนได้เสนอกรอบแนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับการนำระบบ FSQLs มาใช้ในโรงเรียน สพฐ. โดยจะมีการจัดกลุ่มโรงเรียน แบ่งออกเป็น กลุ่มโรงเรียนเด็กด้อยโอกาสและพิการ และกลุ่มโรงเรียนปกติที่อยู่ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ซึ่งการดำเนินงานเราอยากเห็นโรงเรียนทุกแห่งมีคุณภาพเท่าเทียมกัน โดยจะให้โรงเรียนนำระบบ FSQLs มาประเมิน เพื่อสำรวจคุณภาพผู้เรียน การจัดการเรียนการสอน การใช้สื่อต่างๆ จากนั้นจะให้โรงเรียนที่แบ่งกลุ่มได้มีการพัฒนาโรงเรียนของตัวเอง เช่น โรงเรียนแห่งไหนพบว่ามีจุดด้อยเรื่องใดจะมีวิธีการและแผนพัฒนาอย่างไรให้ดีขึ้น เป็นต้น หากมีการประเมินด้วยรูปแบบนี้ทุกปีจะเชื่อมโยงกับการกันคุณภาพภายในและรองรับการประเมินคุณภาพภายนอกได้ด้วย

“ผมไม่อยากเห็นการเปรียบเทียบว่าโรงเรียนนี้ดีกว่าโรงเรียนนั้น แต่ต้องการทำให้โรงเรียนทุกแห่งมีคุณภาพเท่าเทียมกันตามบริบทของตัวเอง ดังนั้นการตรวจสุขภาพสถานศึกษาด้วยระบบ FSQLs นี้จะทำให้เกิดการพัฒนาและค้นพบว่าโรงเรียนมีจุดเด่นจุดด้อยตรงไหนบ้าง รวมถึงการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กจะใช้ FSQLs เข้ามาดำเนินการ เพราะระบบนี้จะช่วยการบริหารงบและบุคลากรทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะไม่เป็นการลงทุนที่สูญเปล่าและมีคุณภาพการศึกษาตามต้องการ เนื่องจากประเทศมาเลเซียและเวียดนามที่นำระบบดังกล่าวมาใช้แล้วจนประสำเร็จด้านการศึกษา ” นายอัมพร กล่าว

ที่มา Facebook At_HeaR ข่าวจริงเข้าหู

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่