7​ สิ่งที่​ ศธ.และผู้บริหารระดับ​ รร.และเขตพื้นที่ต้องทำ ข้อเสนอจาก​ ผอ.ศูนย์​ ESD​ ครุศาสตร์​ จุฬาฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์​มหาวิทยาลัย​ ถึง 7​ สิ่งที่​ ศธ.และผู้บริหารระดับ​ รร.และเขตพื้นที่ต้องทำ รายละเอียดดังนี้

1. เร่งรัดการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ​ให้มีจำนวนมากพอสำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่เสี่ยง​ ระดมให้มีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง​ ครอบคลุม​ และเร็วที่สุด

2. ปลดล็อค​ ย้ำเตือนให้​ รร.ทบทวนและออกแบบการใช้หลักสูตร​ระดับ​ รร.กันใหม่ รวมทั้งการประเมินผล​ มอบหมายงานที่มีความหมาย​ ไม่มากชิ้น ตัดทอนเนื้อหาที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย​ ปรับกิจกรรม​การเรียนการสอน​ ไม่จำเป็นต้องดึงทุกคนมาอยู่กันยาว​ ๆ​ ผ่านออนไลน์ตลอดทั้งวัน​ เรื่องนี้ต้องปลดล็อคระดับหลักสูตร​

3. จัดตารางเรียนกันใหม่​ เหลือวันละ​ 3-4​ วิชา​

ระดับประถมฯ​ ลดเวลาหน้าจอ​ เหลือเฉพาะวิชาหลัก​ เช่น​ คณิต​ ภาษาไทย​ ภาษาอังกฤษ​ ที่ต้องมีครูประกบ​ นอกนั้นให้บูรณาการเป็นโครงงานเล็ก​ ๆ​ ทำด้วยตนเองพอได้​ โยงกับชีวิตที่บ้านจรืง​ ๆ​

ระดับมัธยมปรับการเรียนผสมผสาน​ (Blended Learning) เรียนด้วยตัวเองผสมกับการมีปฏิสัมพันธ์สด​และมีแพลตฟอร์มไว้แลกเปลี่ยนเหลื่อมเวลาได้​ ถ้าเป็นวิชาที่มีเนื้อหาหลักอยู่​ ในส่วนของการบรรยายปรับเป็นคลิปสั้น​ ๆ​ ตอนละ​ 15-20​ นาที และเป็นออนดีมานด์​ ไม่ควรต้องให้มาฟังบรรยายสดทางออนไลน์

4. เทอมนี้เหลืออีก​ 2-3​ สัปดาห์​ ปรับใหญ่ไม่ทัน​ ปรับเล็ก​ ลดและงดการสอบที่ไม่จำเป็น​ ปรับสัดส่วนคะแนนไปที่งานที่มอบหมายไว้แล้ว​ ไม่สั่งงานใด​ ๆ​ เพิ่มอีกในช่วง​ 2-3​ สัปดาห์​ เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม​ เช่น​ ต้องอ่าน​ ฟัง​ มาก่อนเพื่อมาแลกเปลี่ยนในเวลาเรียน

5. เทอมปลาย​ ออกแบบหลักสูตร​ และกระบวนการใช้หลักสูตรใหม่หมด​ แนวทางให้ย้อนไปดู​ ข้อ​2-3​ และขอเสนอให้เลื่อนเปิดเทอมภาคปลายออกไป​ 1 เดือนในทุกระดับชั้น​ ยกเว้นชั้น​ ม.6 ในกรณีที่​ ทปอ.ยังไม่เลื่อนระบบ​ TCAS​ และตารางสอบ​

ทำไมต้องเลื่อนเปิดเทอม

– เด็ก​ ๆ​ ล้ามาตลอดสามสี่เดือน​ พวกเขาต้องได้พัก

– ครูล้ามาตลอดตั้งแต่เจอการล็อคดาวน์เพราะการระบาดระลอกสอง​ ยังแทบไม่ได้หยุดกันจริงจัง​ ก่อนเปิดเทอมต้องยกเลิกการอบรม​ ประชุมออนไลน์ทุกอย่าง​ ให้พวกเขาได้ประชุมกันทั้งในกลุ่มสาระวิชา​ ระดับชั้น​ และประชุมทั้ง​ รร.​ ทบทวนทิศทาง​ วิธีการ​ หลาย​ รร.ทำได้ดีมากขึ้นหลังมีการประชุมครูช่วงสอบกลางภาค​ มีสัปดาห์เคลียร์งานของ​ นร.และครู​ มีความพยายามถอดบทเรียนในส่วนนี้อยู่บ้าง​ แต่ยังไม่มีการสื่อสารในวงกว้าง​ ย้ำว่า​ ครูทุกคนต้องการเวลาพัก หารือ​ เตรียมการสอนให้ดีที่สุดเพื่อนักเรียน

– ผู้ปกครองก็ล้ามาก​ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครองเด็กเล็ก​ และเด็กประถมศึกษา

แม้จะเป็นช่วงวิกฤติที่ไม่มีใครอยากให้เกิด​ และคาดเดาสถานการณ์ได้ยาก​ แต่การจัดการศึกษาไม่ควรสร้างความทุกข์รวมหมู่ให้กับผู้คนหลายสิบล้านคนเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

6. ระบบสนับสนุน​ เงินช่วยรายหัว​ ซิม​ แพ็คเกจอินเตอร์เน็ต​ อุปกรณ์มือถือ​ โน้ตบุค​ ฯลฯ​ ล้วนเป็นปัญหาที่ต้องปล่อยให้​ รร.ตัดสินใจเองให้มากที่สุด​ เขตพื้นที่ถ้าจะรวบรวมข้อมูลต้องตามมาด้วยงบประมาณ​ ทรัพยากรสนับสนุน​ ไม่ใช่แค่ส่งต่อข้อมูลอย่างเดียว

การกำกับ​ติดตามที่เข้มงวด​ วัฒนธรรมที่ผู้คนถูกทำให้กลัวมานานต่อระเบียบขั้นตอน​ การสั่งการที่ไม่ได้หารือภาพรวม​ ทั้งหมดคืออุปสรรคที่ทำให้การตัดสินใจล่าช้า​ ไม่ยืดหยุ่น​ ไม่ตอบโจทย์​ เหนืออื่นใดคือไม่ได้ยึดนักเรียนเป็นที่ตั้งเลย

7.​ ส่วนกลางต้องเชิญครูและคนทำงานมาร่วมทบทวนแนวปฏิบัติก่อนสั่งการ​ หรือมีประกาศใด​ ๆ​ เพื่อให้รอบคอบ​ รัดกุมที่สุด​ มิฉะนั้นจะเป็นการสั่งไป​ ทำไป​ แก้ไป​ วนไปไม่รู้จบ

ทั้งหมดนี้ได้พยายามพูดมาตลอดปีครึ่ง​ บางเรื่องเริ่มเห็นการขยับที่น่าสนใจ​ บางเรื่องนิ่งมาก​ ส่วนที่ขยับปรับตัวไว​ คือ​ ระดับชั้นเรียน​ และระดับโรงเรียน​ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รร.ขนาดกลางและเล็กที่สเกลไม่ใหญ่คล่องตัวกว่า​ ยิ่งหากมีครู​ ผู้บริหารที่มี​ leadership และ​ shared leadership ภาวะ​ resilience ล้มแล้วลุกได้เร็ว​ ยืดหยุ่นปรับตัวรับมือสถานการณ์ที่ยากท้าทาย​ เกิดขึ้นได้ดีกว่า

ที่ใดยังมีความกลัว​ ความยืดหยุ่น​ การคิดนอกกรอบ​ และความกล้าหาญในการตัดสินใจ​ เกิดได้ยากมาก

ขอบคุณเด็ก​และเยาวชนทุกคนที่ลุกขึ้นส่งเสียง​ เป็นเสียงที่ผู้ใหญ่ทุกคนต้องฟัง​ และโปรดอย่าด่วนตัดสินด้วยอคติ

ขอบคุณที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครุฯ จุฬาฯ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่