เสมา 1 เผย หากสถานการณ์โควิด-19 ไม่วิกฤต ให้ ร.ร.สอนแบบปกติ
เสมา 1 เผย หากสถานการณ์โควิด-19 ไม่วิกฤต ให้ ร.ร.สอนแบบปกติ

เสมา 1 เผย หากสถานการณ์โควิด-19 ไม่วิกฤต ให้ ร.ร.สอนแบบปกติ การเปิดภาคเรียนที่ 1 ในวันที่ 1 ก.ค.2563 หากสถานการณ์เลวร้ายที่สุดก็ต้องจัดสอนออนไลน์ พร้อมกับบูรณาการการเรียนการสอนในรูปแบบอื่น ๆ ประกอบไปด้วย

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ สำหรับสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ว่า การเรียนการสอนของอาชีวศึกษาต้องผสมผสานทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งการเรียนอาชีวะส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปที่การเรียนภาคปฏิบัติ ดังนั้นจึงขอให้ทุกวิทยาลัยเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดแบ่งเวลาเรียนภาคปฏิบัติของนักศึกษาให้มีความเหมาะสม และปฏิบัติตามมาตรการการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัดด้วย เป็นต้น ส่วนการเรียนออนไลน์ในภาคทฤษฎีตนคิดว่านักศึกษาอาชีวะส่วนใหญ่มีอุปกรณ์ที่พร้อมใช้สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์อยู่แล้วจึงไม่น่ามีปัญหาอะไร จะมีบ้างก็แค่เรื่องสัญญาณไวไฟที่จะใช้อาจจะไม่ครอบคลุม หรือสัญญาณไม่แรงพอ จึงเป็นเรื่องที่ตนจะไปหารือกับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ดำเนินการเรื่องนี้ว่าจะช่วยเหลือสนับสนุนด้านการศึกษาอย่างไรได้บ้าง นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าวตนได้มอบแนวทางให้แก่ผู้บริหารวิทยาลัยด้วยว่าการจัดการอาชีวศึกษามีความสำคัญ เพราะเชื่อมโยงไปถึงการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะจะต้องมาจากผู้เรียนอาชีวะ ซึ่งตนอยากให้อาชีวศึกษาเป็นกำลังหลักผลักดันการขยายธุรกิจของประเทศไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเชื้อไวรัสโควิด-19 ยุติลง

“การเปิดภาคเรียนที่ 1 ในวันที่ 1 ก.ค.2563 หากสถานการณ์เลวร้ายที่สุดก็ต้องจัดสอนออนไลน์ พร้อมกับบูรณาการการเรียนการสอนในรูปแบบอื่น ๆ ประกอบไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาอาชีวะจะต้องมีการฝึกปฏิบัติ อาจจะมีการแบ่งกลุ่มขนาดเล็กเพื่อฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการ หรือในวิทยาลัย เป็นต้น โดยขอให้แต่ละวิทยาลัยคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของนักศึกษา ครู และบุคลากรผู้สอนเป็นสำคัญ โดยให้อำนาจผู้บริหารแต่ละวิทยาลัยไปคิดรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว โดยในวันที่ 18 พ.ค.-30 มิ.ย.2563 ถือเป็นช่วงเวลาของการเตรียมความพร้อมที่ทุกวิทยาลัยจะหาจุดลงตัวในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมของวิทยาลัยของตัวเองได้” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

นายณัฏฐพล กล่าวอีกว่า ในส่วนของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม ตนขอย้ำว่าการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค.ถือเป็นการเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เพราะหากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังไม่พ้นวิกฤตก็จำเป็นจะต้องสอนออนไลน์ทีได้วางแผนไว้ สำหรับ ศธ.แล้ว อยากจะให้มีการเรียนการสอนที่โรงเรียนมากกว่า แต่หากไม่สามารถให้นักเรียนมาเรียนที่โรงเรียนได้ก็ต้องมีการสอนออนไลน์ผสมผสานกันไป โดยใช้ช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด 17 ช่อง ครอบคลุมการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ช่อง ส่วนอีก 2 ช่องเป็นของสถานศึกษา กศน.และอาชีวศึกษา เพื่อทำให้การเรียนการสอนขับเคลื่อนไปได้ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ทั้งนี้ ศธ.จะประเมินภาพรวมอีกครั้งว่าโรงเรียนไหนสามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติที่โรงเรียนได้ เช่น หากพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรีไม่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อและบริหารจัดการโรคระบาดได้ โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนั้นก็สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ เป็นต้น.

ขอบคุณที่มา : At_HeaR ข่าวจริงเข้าหู

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่