เข้าใจพิธีไหว้ครู สานต่ออย่างสร้างสรรค์
เข้าใจพิธีไหว้ครู สานต่ออย่างสร้างสรรค์

เข้าใจพิธีไหว้ครู สานต่ออย่างสร้างสรรค์

ในทุกช่วงเริ่มต้นปีการศึกษา นักเรียนและนิสิตจะทำพิธีไหว้ครู อันเป็นประเพณีสำคัญที่สะท้อนและถักทอสายใยแห่งความสัมพันธ์ของ ศิษย์กับครูมาแต่อดีต แม้ในวันนี้ ความเข้าใจ ความหมายและรูปแบบ บางอย่างของพิธีกรรมไหว้ครูจะแปรเปลี่ยนไปบ้าง แต่สังคมไทยก็ยกย่องครูดังคำเปรียบที่ว่า “ครูเป็นเสมือนพ่อแม่คนที่ 2 ของศิษย์” และยกให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็นวันครูแห่งชาติ

“หัวใจของความเป็นครูอยู่ที่การเป็นต้นแบบผู้ดำรงชีวิตที่ดี ความเสียสละ เหมือนแม่พ่อที่คอยดูแลลูก รักและผูกพัน จึงเกิดคำว่า “ลูกศิษย์” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิต สาขาวิชานาฏกรรม กล่าวในงานประชุมวิชาการระดับชาติ “ครูและพิธีกรรมไหว้ครูในวัฒนธรรมไทย” ที่จุฬาฯ เมื่อปลายปีที่แล้ว จัดโดยสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา ซึ่งประกอบด้วยราชบัณฑิตและภาคีสมาชิกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านอักษรศาสตร์และศิลปกรรมแขนงต่างๆ 
ในการปาฐกถาเรื่อง “จิตวิญญาณครู” ศ.กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิต สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ วิพากษ์ครูในปัจจุบันนี้ว่า มีจำนวนไม่น้อยที่ได้ขายจิตวิญญาณครูแลกกับตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์และเงินตรา

“จิตวิญญาณในที่นี้ไม่ได้หมายถึงภูตผีปีศาจ แต่หมายถึง สภาวะจิตที่ได้ฝึกฝนดีแล้ว อันเป็นต้นทางของความเมตตากรุณา สุนทรียภาพ และสันติภาพ ครูต้องสอนให้ลูกศิษย์พ้นจากการกักขังทางความคิดและจินตนาการ มีอิสรภาพ ออกนอกกรอบ คิดเองได้ด้วยวิถีแห่งปัญญา มีพลัง สติ และอดทน”

ในงานประชุมวิชาการมีการอภิปราย “ครูและพิธีกรรมไหว้ครูในวัฒนธรรมไทย” ในหลายรูปแบบ เช่น ครูและพิธีไหว้ครูแพทย์ อ.ละออง พุทธมอญ กล่าวถึงการแพทย์แผนโบราณที่นับถือพระฤๅษี ด้วยเชื่อว่าเป็นผู้ค้นพบสรรพคุณของยา กายบำบัด อย่างที่รู้จักกันในชื่อ ฤๅษีดัดตน ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) นอกจากนั้นก็นับถือ ปู่ชีวก หรือหมอชีวก ซึ่งถือเป็นปฐมครูแห่งเวชกรรม เภสัชศาสตร์ การนวด การผดุงครรภ์ เป็นต้น

ส่วนการแพทย์แผนปัจจุบัน นอกจากพิธีไหว้ครูที่ส่วนใหญ่กำหนดเอาวันพฤหัสบดีแรกของเดือนที่มีการเปิดเรียนแล้ว ศ.เกียรติคุณ นพ.สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา ยังกล่าวถึงการไหว้ครูผู้ ไร้ชีวิต ซึ่งเป็นครูคนสำคัญของนักศึกษาแพทย์

“อาจารย์ใหญ่มีความหมายกับนักศึกษาแพทย์มาก เนื่องจากเป็นผู้อุทิศร่างกายให้กับการเรียนสาขากายวิภาคศาสตร์ นักศึกษา 4 คนจะเรียนรู้กับอาจารย์ 1 ร่าง ซึ่งหลังจากเรียนจบแล้ว ลูกศิษย์จะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้อาจารย์ใหญ่ด้วย” ศ.เกียรติคุณ นพ.สุรพล กล่าว 

ในสาขาดนตรีและศิลปะการแสดง อ.ชนก สาคริก ครูดนตรีไทยและราชบัณฑิตสาขาวิชาดุริยางคกรรม เล่าว่า “พิธีไหว้ครูดนตรีไทยเป็น การเคารพผู้มีพระคุณ มีการอัญเชิญพระพุทธเจ้า มีขันไหว้ครู ดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าขาวและเงินกำนล (เครื่องบูชา) จำนวน 6 บาท เพื่อไหว้ทิศทั้ง 6 ทิศ เป็นการแสดงความอ่อนน้อม แล้วยังมีการแย่งไข่ต้มบนยอดบายศรีด้วย โดยเชื่อว่าเป็นสิริมงคล”


ดร.ไพโรจน์ ทองคำสุก ราชบัณฑิตสาขาวิชานาฏกรรมไทย เสริมว่า “นาฏศิลป์โขนละครนิยมเรียก “ครู” ว่า “พ่อครู” “แม่ครู” หมายความว่า ครูไม่ใช่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ให้กำลังใจ ลูกศิษย์ด้วย และในปีสุดท้ายของการเรียนโขนละคร นักศึกษาจะได้รับมอบอาวุธ เช่น หอก ศร คทา ตรี จักร เพื่อแสดงว่าจบหลักสูตรและสามารถออกไปประกอบวิชาชีพได้”

สำหรับครูด้านสถาปัตยกรรมและสายช่างสิบหมู่ของไทย อ.วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ เล่าว่าการไหว้ครูช่างเกิดขึ้นครั้งแรกที่โรงเรียนเพาะช่างเมื่อปี 2456 เป็นการไหว้เทพ 5 พระองค์ ได้แก่ พระอิศวร พระอุมา พระพรหม พระนารายณ์ และพระมหาพิฆเนศ “การไหว้ครูช่างเป็นพิธีที่ทำให้ศิษย์อ่อนน้อมถ่อมตัว และประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบ พิธีไหว้ครูช่างยังเป็นการเข้าสู่การเป็นสมาชิก และทำให้ลูกศิษย์เกิดความเชื่อมั่นในวิชาชีพ และเกิดความภาคภูมิใจอีกด้วย”

ในสาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดี ก็มี “พิธีไหว้ครูจารึก” รศ.กรรณิการ์ วิมลเกษม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “จะมีการไหว้ศิลาจารึกจำลองและผู้สร้างจารึก ใบลาน ตลอดจนบูรพาจารย์ของภาควิชา ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศ วริยาลงกรณ์ ศ.ยอร์ช เซเดส์ ฯลฯ จากนั้นก็จะเป็นการฝากตัวเป็นศิษย์แบบโบราณ ใช้ดอกไม้ธูปเทียนและบายศรีปากชาม เพื่อเป็นการบอกว่าครูสามารถอบรมสั่งสอน เฆี่ยนตีได้”

ไม่ว่าจะเรียนศาสตร์และศิลป์ใด ศิษย์ทุกคนต่างก็มีครู “พิธีกรรมไหว้ครูเป็นการสอนคุณธรรมเรื่องความกตัญญูได้ดีที่สุด นอกจากนั้น ยังสอนเรื่องความเป็นคนดี การเสียสละ และจิตอาสาด้วย” ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ กล่าว

รูปแบบและพิธกรรมไหว้ครูอาจปรับไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่แก่นความหมายควรดำรงอยู่ “พิธีกรรมทั้งหลายควรกระทำด้วยความเข้าใจ รู้ความหมายและคุณค่า อีกทั้งควรทำแต่พอดี เน้นการอนุรักษ์และพัฒนาควบคู่กันไป” ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล กล่าวทิ้งท้าย

ข้อมูล : สถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ | สนุก ดอทคอม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่