องค์กรครูคาใจ จี้แก้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติฯ หวั่นโครงสร้างรวบอำนาจที่ผู้ว่าฯ ย้ำเขตพื้นที่ยังสำคัญ
องค์กรครูคาใจ จี้แก้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติฯ หวั่นโครงสร้างรวบอำนาจที่ผู้ว่าฯ ย้ำเขตพื้นที่ยังสำคัญ

องค์กรครูคาใจ จี้แก้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติฯ หวั่นโครงสร้างรวบอำนาจที่ผู้ว่าฯ ย้ำเขตพื้นที่ยังสำคัญ

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วนั้น ที่ผ่านมากลุ่มเครือข่ายองค์กรครูทั่วประเทศคัดค้าน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ อย่างรุนแรง จนทำให้ท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยอมรับฟังข้อเรียกร้องและมอบหมายให้ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่มิได้มีตัวแทนของเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) เข้าร่วมประชุมรับฟังข้อเรียกร้องแต่อย่างใด โดยการประชุมในวันนั้นทราบว่า ได้ข้อสรุปเพื่อให้กฤษฎีกาไปแก้ไข 4 ประเด็นหลักประกอบด้วย 1.ให้ใช้ใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพครู เช่นเดิม 2.ให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงและเป็นวิชาชีพควบคุม 3.ให้เปลี่ยนตำแหน่งเป็นผู้บริหารสถานศึกษา 4.ให้ปรับปรุงโครงสร้างเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ แต่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กลับส่งไปให้กฤษฎีกาแก้ไขเพียง 3 ข้อแรกเท่านั้น โดยไม่นำเสนอข้อที่ 4 แต่อย่างใด จึงเป็นที่สงสัย คลางแคลงใจอย่างยิ่งว่า ทำไมจึงไม่ส่งประเด็นนี้ไป และนายกรัฐมนตรีได้ทราบข้อเสนอนี้จากที่ประชุมหรือไม่

ประธานชมรม ผอ.สพท.แห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้องค์กรครูทั่วประเทศต่างไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางทั้งในมาตรา 106 ที่ให้อำนาจปลัดกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชา การให้อำนาจกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ชี้นำแทรกแซงรัฐสภาในการออกกฎหมายระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และสาระบัญญัติของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่มีมาตราใดที่กล่าวถึงหน่วยงานการศึกษาระดับจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษาแต่อย่างใด แต่กลับกล่าวถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้มีอำนาจจัดการประชุมประธานคณะกรรมการสถานศึกษา แทนที่จะเป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงานการศึกษาในระดับจังหวัดโดยตรงเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ จึงเป็นที่คลางแคลงใจอย่างยิ่งว่าโครงสร้าง ศธ.ในระดับจังหวัดหรือเขตพื้นที่การศึกษาจะมีหรือไม่หรือจะให้ปลัด ศธ.มอบอำนาจการบังคับบัญชาครูให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้เกิดการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จเข้าสู่โครงสร้างอำนาจนิยมมากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงสร้างอำนาจลักษณะดังกล่าวนี้เป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจให้สถานศึกษามีอิสระในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นการบริหารแบบ single comand ซึ่งไม่เหมาะกับ ศธ.ที่เป็นกระทรวงสร้างคนให้มีปัญญา มีความเป็นอิสระสร้างสรร โดยไม่ควรใช้อำนาจใดมากดทับความคิด และความอิสระของหน่วยงานการศึกษาทุกระดับ

นายธนชน กล่าวต่อไปว่า การมีหน่วยงานการศึกษาในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะเขตพื้นที่การศึกษา ยังมีความจำเป็น เพราะจะเป็นโซ่ข้อกลาง คอยประสาน ส่งเสริม สนับสนุน ติดตาม การนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ของสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นรวมทั้งในมาตรา 88 และมาตรา 93 ทีบัญญัติถึงองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และอำนาจหน้าที่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอย่างชัดเจน ที่คณะกรรมการฯรับผิดชอบในการกำหนดกฎเกณฑ์ระเบียบ และแนวปฏิบัติ ต่างๆ ตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน ยันเรือรบ โดยไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องแก้ไขให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เช่นการไม่กำหนดให้มีผู้บริหารการศึกษา การไม่ชัดเจนของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องนั้นหมายถึงหน่วยงานใด การกำหนดเป้าหมายตามมาตรา 8 ให้ครูและนักเรียนปฎิบัติตายตัวมากเกินไปโดยไม่ยืดหยุ่น การให้ผู้บริหารสถานศึกษาจัดให้ครูมีลักษณะเฉพาะตามมาตรา 8 จนยากที่จะปฎิบัติได้ การเอื้อให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษาเกินความเหมาะสมมากเกินไป ซึ่งเป็นการผลักภาระให้กับผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าเล่าเรียนให้บุตรหลานเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาล และรัฐสภา ได้โปรดพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ด้วยความรอบคอบ โดยยอมรับฟังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงให้มาก ซึ่งหาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ออกมาโดยไม่แก้ไข มาตรา 106 มาตรา 88 และมาตรา 93 ท่านอาจจะไม่มีโอกาสกลับมาในรัฐสภาอันทรงเกียรติต่อไปอีกก็ได้.

ขอบคุณที่มา : Facebook At_HeaR ข่าวจริงเข้าหู

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่