สพฐ. จี้โรงเรียนต้องยกระดับคุณภาพ4ด้าน ในปีการศึกษาหน้า เปรียบเทียบของเก่า-ของใหม่
สพฐ. จี้โรงเรียนต้องยกระดับคุณภาพ4ด้าน ในปีการศึกษาหน้า เปรียบเทียบของเก่า-ของใหม่

สพฐ. จี้โรงเรียนต้องยกระดับคุณภาพ4ด้าน ในปีการศึกษาหน้า เปรียบเทียบของเก่า-ของใหม่ “อัมพร” แจ้งเขตพื้นที่ฯ ปีการศึกษาหน้า โรงเรียนต้องยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น  โดยกำหนดตัวชี้วัด 4 ข้อ เปรียบเทียบปีก่อน กับเป้าหมายของปีนี้ ทั้งคุณภาพนักเรียน คุณภาพครูและผู้บริหาร หลักสูตร และการมีส่วนร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ ในการประชุมสัมมนาผู้อํานวยการสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ตนได้เน้นย้ำให้เขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตเตรียมความพร้อมการเปิดเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565  ซึ่งยืนยันว่าเราจะไม่มีการเลื่อนเปิดภาคเรียนอีกแล้ว เพราะตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาโรงเรียนได้เผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และได้ปรับบ้านเป็นโรงเรียนเปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู ช่วยเกื้อหนุนในลักษณะของการเรียนการสอนแบบผสมผสานมาโดยตลอด ดังนั้นการเปิดภาคเรียนใหม่ที่จะถึงนี้ขอให้โรงเรียนเตรียมความพร้อมที่จะเปิดภาคเรียน ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กมาเรียนได้อย่างปลอดภัย  เตรียมความพร้อมทั้งด้านอาคารสถานที่และอุปกรณ์การเรียนการสอนสำหรับการเรียนแบบ On Site และการเรียนแบบทางไกลด้วย

สพฐ. จี้โรงเรียนต้องยกระดับคุณภาพ4ด้าน ในปีการศึกษาหน้า เปรียบเทียบของเก่า-ของใหม่
สพฐ. จี้โรงเรียนต้องยกระดับคุณภาพ4ด้าน ในปีการศึกษาหน้า เปรียบเทียบของเก่า-ของใหม่

นายอัมพร กล่าวต่อว่า สำหรับการรับนักเรียนชั้นม.1 และ 4 ในปีการศึกษา 2565 ตนขอให้เขตพื้นที่ดูแลนักเรียนที่พลาดโอกาสจากโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง หรือเด็กคนไหนยังไม่มีที่เรียนจะต้องเร่งสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง และจัดหาที่เรียนให้เด็กได้มีที่เรียนทุกคนด้วย ขณะเดียวกันเมื่อเปิดภาคเรียนใหม่แล้วเขตพื้นที่จะต้องป้องกันเด็กหลุดระบบการศึกษา หรือค้นหาเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาในภาคเรียนที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิดให้กลับมาเรียน ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป เพราะเราจะต้องสร้างระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เป็นกลไกสำคัญในการป้องกันปัญหานักเรียนในทุกมิติ เพื่อนำไปเชื่อมโยงกับสถานศึกษาปลอดภัยด้วย  

เลขากพฐ. กล่าวอีกว่าที่สำคัญ ในการประชุมครั้งนี้ตนได้กำหนดตัวชี้วัดการขับเคลื่อนโรงเรียนในปีการศึกษาหน้า ซึ่งต้องการให้ทุกโรงเรียนมีตัวชี้วัดเพื่อยกระดับคุณภาพของโรงเรียน ใน 4 ข้อหลัก คือ

1) เรื่องคุณภาพผู้เรียน

ทุกโรงเรียนต้องกำหนดให้ได้ว่าในด้านองค์ความรู้ จะมีการยกระดับมากกว่าเดิมอย่างไร ทั้งในเรื่องการอ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น เป็นต้น ต่อมาในด้านทักษะชีวิต ต้องการให้เด็กในโรงเรียนเกิดทักษะชีวิตอย่างไร ทั้งในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ความสามารถของเด็กในแต่ละด้าน หรือ 1 ดนตรี 1 กีฬา ล้วนแต่เป็นทักษะที่จะต่อยอดให้เด็กมีทักษะชีวิตที่ดีขึ้น และด้านทักษะอาชีพ ที่เราต้องการให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติลงมือทำ เพื่อตอบโจทย์ด้านสมรรถนะของนักเรียน

2) เรื่องคุณภาพครูและผู้บริหาร

ทุกโรงเรียนควรจะมีทิศทางในการยกระดับศักยภาพครูของโรงเรียนตัวเองให้ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโรงเรียน ภายใต้ข้อจำกัดที่โรงเรียนมีอยู่

3) เรื่องหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน

อยากให้ลงรายละเอียดว่าโรงเรียนมีหลักสูตรสถานศึกษาที่เป็นหลักสูตรปี พ.ศ. 2551 ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ. 2560 ซึ่งมี 5 สมรรถนะแล้วหรือยัง สามารถทำได้หรือไม่ และทำแล้วนำไปสู่การเรียนการสอนได้มากน้อยอย่างไร แต่ละโรงเรียนต้องสามารถนำเสนอทิศทางให้ได้ว่า มีหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนอะไร เช่น ในชั้นอนุบาล เน้นทฤษฎีอะไรเป็นหลัก ชั้นประถม-มัธยมใช้ทฤษฎีอะไรมาเป็นต้นแบบในการจัดการเรียนการสอน เพื่อตอบโจทย์ Active Learning ได้อย่างไร เป็นต้น และ

4) การมีส่วนร่วมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละโรงเรียน

เมื่อโรงเรียนมีแผนการสร้างการมีส่วนร่วมและการปรับปรุงโครงสร้างอาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในโรงเรียน

“ผมอยากให้ผอ.เขตใช้ 4 ตัวชี้วัดนี้ในการออกเยี่ยม นิเทศ ติดตาม กำกับ การยกระดับคุณภาพการบริหารจัดการของโรงเรียนภายใต้ 4 องค์ประกอบ คือ 1. คุณภาพผู้เรียน 2. คุณภาพครูผู้บริหาร 3. คุณภาพหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน และ 4. คุณภาพการมีส่วนร่วมและการปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานเพื่อรองรับการจัดการศึกษาให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม หากโรงเรียนไหนประสบความสำเร็จได้รับการยกย่อง เราก็นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ตนเชื่อว่าความสำเร็จในวันนี้ไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนปัจจัย ไม่ได้อยู่ที่บุคลากรมากหรือน้อย แต่อยู่ที่วิธีการในการแสวงหารูปแบบที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพและความสามารถที่จะทำเรื่องนี้ได้ แต่เราต้องชี้เป้าหมายให้ชัด รวมถึงวิธีปฏิบัติให้แต่ละโรงเรียนได้คิดและแสวงหาแนวทางของตัวเอง ภายใต้กรอบที่ว่าเราจะมุ่งไปสู่ “สพฐ. คุณภาพ เอกภาพเชิงนโยบาย หลากหลายปฏิบัติ” โดยผ่านกลไกนวัตกรรมพื้นที่เป็นฐาน นวัตกรรมขับเคลื่อน แล้วเราจะประสบความสำเร็จไปด้วยกันครับ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์ วันที่ 7 เมษายน 2565 เวลา 13:19 น. | เว็บไซต์ สพฐ.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่