สพฐ. จัดสรรงบประมาณให้ สพท. 30 เขต ในพื้นที่นวัตกรรม
สพฐ. จัดสรรงบประมาณให้ สพท. 30 เขต ในพื้นที่นวัตกรรม

สพฐ. จัดสรรงบประมาณให้ สพท. 30 เขต ในพื้นที่นวัตกรรม

“หนุน” และ “นำ” โรงเรียนนำร่องในสังกัด ให้จัดการศึกษาสอดคล้องบริบท ตอบโจทย์ มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 กำหนดให้ สพฐ. จัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่โรงเรียนนำร่อง สังกัด สพฐ. แต่ละแห่งโดยตรง เพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา

สพฐ. จัดสรรงบประมาณให้ สพท. 30 เขต ในพื้นที่นวัตกรรม
สพฐ. จัดสรรงบประมาณให้ สพท. 30 เขต ในพื้นที่นวัตกรรม 2

สพฐ. ได้อนุมัติโอนจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อจัดสรรให้โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 รวม 226 โรงรียน จำแนกเป็นโรงเรียนภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 222 โรงเรียน และโรงเรียนภายใต้การดูแลของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 4 โรงเรียน เพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา

การจัดสรรเงินอุดหนุนครั้งนี้ เป็นการจัดสรรให้โรงเรียนนำร่องเป็นวงเงินรวม หรือเรียกว่า Block Grant เพิ่มเติมอีกก้อนหนึ่งจากงบเงินอุดหนุนทั่วไปที่โรงเรียนนำร่องได้รับจากรายการค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามปกติอยู่แล้ว (รายการพื้นฐาน 5 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน)

การคำนวณสูตรในการจัดสรรงบเงินอุดหนุนครั้งนี้ ได้นำแนวคิดมาจากการหารือกับ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ร่วมประชุมกับ สบน. และ tdri ดังข้อมูลนี้ https://www.edusandbox.com/how2manage-budget/ และการหารือร่วมกันต่อเนื่อง ระหว่าง สบน. และ tdri ดังข้อมูลนี้ https://www.edusandbox.com/budgetv2/ จึงได้สูตรจัดสรรให้โรงเรียนนำร่องในปีงบประมาณ 2563 โรงเรียนนำร่องจะได้รับงบประมาณ อยู่ในช่วง 43,500 – 45,700 บาท เฉลี่ย 44,602 บาท/โรงเรียน ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการในระยะเริ่มต้นในช่วงที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายเป็นผู้กำหนดขึ้นโดยความเห็นชอบของสำนักงบประมาณ ตามมาตรา 28 วรรคสอง

เหตุผลสำคัญของการประกาศใช้ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 คือ ต้องการพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพ มีความใฝ่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถอยู่และทำงานร่วมกับผู้อื่นซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายได้ มีความรู้เท่าทันโลก และมีทักษะในการประกอบอาชีพตามความถนัดของผู้เรียนแต่ละคน และให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ และลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาให้ได้อย่างแท้จริง

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงเป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา เป็นการนำร่องการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และให้มีการขยายผลนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนและวิธีการปฏิบัติที่ดีไปใช้ในสถานศึกษาอื่น

นอกจากนั้น จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในมาตรา 5 ไม่ใช่มุ่งเป้าหมายเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาเฉพาะโรงเรียนนำร่องเท่านั้น ยังหมายรวมถึงการกระจายอำนาจ ให้อิสระ และเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้  “หน่วยงานทางการศึกษา” ด้วย ทั้งนี้ เป็นการมุ่งดำเนินการเพื่อเป็นไปตามเหตุผลและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ข้างต้น

สพฐ. เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนเชิงนโยบายและส่งเสริมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งเลขาธิการ กพฐ. ได้มีนโยบายให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการและขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่อย่างจริงจัง หวังผล โดยเฉพาะการผลักดัน สนับสนุนโรงเรียนนำร่องในสังกัด สพฐ. เพื่อประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนั้น สพฐ. โดย ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการ กพฐ. จึงอนุมัติจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใช้ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนนำร่องในการยกระดับคุณภาพการศึกษา มุ่งให้ผู้เรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งในด้านความรู้ สมรรถนะ ทักษะ และเจตคติ

นอกจากนั้น งบประมาณที่สนับสนุนให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานี้ยังสามารถใช้ในการหนุนเสริมการเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อความเข้มแข็งของโรงเรียนนำร่องและเขตพื้นที่การศึกษา ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อาทิ การนิเทศเพื่อชี้แนะและเป็นพี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่องให้กับโรงเรียนนำร่อง เพื่อช่วยปรับหลักสูตรสถานศึกษา ตามมาตรา 25 และมาตรา 26 การจัดการเรียนการสอน ตามมาตรา 34 การใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรจัดทำและจัดหาสื่อการเรียนการสอน ตามมาตรา 35 ทั้งนี้ การดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัด ในการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เหมาะสมสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของชุมชนและพื้นที่ ซึ่งการใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรนี้ ควรคำนึงถึงเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความโปร่งใส และพร้อมให้หน่วยงานภายนอกเข้าไปศึกษากระบวนการและผลการใช้งบประมาณดังกล่าว

ที่มา : https://www.edusandbox.com/7th-apr-block-grant/

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่