ศธ. Kick-Off นำร่อง หลักสูตรฐานสมรรถนะ 265 โรงเรียน เริ่มภาคเรียนที่ 2/2564
ศธ. Kick-Off นำร่อง หลักสูตรฐานสมรรถนะ 265 โรงเรียน เริ่มภาคเรียนที่ 2/2564

ศธ. Kick-Off นำร่อง หลักสูตรฐานสมรรถนะ 265 โรงเรียน เริ่มภาคเรียนที่ 2/2564

(11 ตุลาคม 2564) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการ “นำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” พร้อมด้วยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ., นายชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สสวท., นายวรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, นางสิริกร มณีรินทร์ นายกสภาสถาบันวิทยาลัยชุมชน โดยมีนายประวิตร เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ผู้บริหารและผู้แทนโรงเรียนนำร่อง 265 แห่ง เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Cloud Meeting จากห้องประชุมจันทรเกษม

ศธ. Kick-Off นำร่อง หลักสูตรฐานสมรรถนะ 265 โรงเรียน เริ่มภาคเรียนที่ 2/2564
ศธ. Kick-Off นำร่อง หลักสูตรฐานสมรรถนะ 265 โรงเรียน เริ่มภาคเรียนที่ 2/2564

รมว.ศธ. กล่าวว่า ในโอกาสที่ได้เข้ามารับตำแหน่ง ได้แถลงมอบ 12 นโยบายด้านการจัดการศึกษา และ 7 วาระเร่งด่วน (Quick Win) ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเน้นย้ำการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย ครอบคลุมการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ไปจนถึงระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นอีกก้าวหนึ่งที่มุ่งเน้นยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษา ตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทุกกลุ่มวัย ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน มีทักษะที่จำเป็น สามารถแก้ปัญหา ปรับตัวสื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิผล มีวินัย นิสัยใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต และเป็นพลเมืองที่รู้สิทธิและหน้าที่ มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักความภาคภูมิใจ และรู้คุณค่าของประวัติศาสตร์ในความเป็นไทย

วันนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย สู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ โดยการเปิด “โครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” ใน 8 จังหวัดนำร่อง ครอบคลุม 265 โรงเรียนในสังกัดต่าง ๆ ได้แก่ โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือเป็นการปักหมุดหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาว่าด้วยกิจกรรมปฏิรูปที่ 24 การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ในข้อที่กระทรวงศึกษาธิการมีการดำเนินการเป็นรูปธรรมด้านหลักสูตรการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบสนองต่อความถนัดและความสนใจของผู้เรียนรายบุคคล ซึ่งจะนำไปสู่แผนการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนรู้ แบบ Active Learning และแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ต้องขอบคุณ สพฐ. รวมทั้งคณะกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานต่าง ๆ ที่ดำเนินงานต่อเนื่องในการยกร่างกรอบหลักสูตร การเตรียมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งในการดำเนินงานได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจ การยอมรับ และเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำ การรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติ การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลทั่วไป หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันเปลี่ยนผ่านการศึกษาแบบเดิม ที่เต็มไปด้วยตัวชี้วัดมุ่งไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน เปลี่ยน “ห้องเรียน” เป็น “ห้องเรียนรู้” ที่ผู้เรียน “เข้าใจ ทำเป็น เห็นผลลัพธ์” และเด็กทุกคนมีโอกาสในการค้นพบเป้าหมายของตนเอง นำไปสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”

จากนั้น รมว.ศธ. ได้กดปุ่มเปิดเว็บไซต์หลักสูตรฐานสมรรถนะ www.cbethailand.com ซึ่งจะเป็นสื่อกลางในการแสดงความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเผยแพร่ข้อมูลโครงการอย่างเป็นทางการ

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์ของโลกในศตวรรษที่ 21 วิทยาการต่าง ๆ มีความเจริญก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าว จึงได้พัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างมาตรฐานการศึกษาไทย ยกระดับคุณภาพของนักเรียนให้ทัดเทียมนานาชาติ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

สพฐ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนา (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ มาตั้งแต่ปี 2562 และได้การกำหนดกรอบและทิศทางของการพัฒนา ศึกษาเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนรู้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งผ่านความร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ภายใต้โครงการ Country Program

ซึ่งต่อมา รมว.ศธ. ได้กำหนดให้หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนหรือ Quick Win และได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ซึ่งมีนางสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการ และคณะอนุกรรมการคณะต่าง ๆ เพื่อดำเนินงานต่อเนื่อง ในการยกร่างกรอบหลักสูตร การเตรียมการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับนโยบายและผู้ปฏิบัติ เพื่อให้ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล เป็นหลักสูตรที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และความต้องการของชุมชนที่มีบริบทแตกต่างกัน

“ทั้งนี้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยจัดเวทีระดมสมองในประเด็นที่สำคัญและกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง ทดลองใช้หลักสูตรในโรงเรียนนำร่องที่เข้าร่วมโครงการวิจัยในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจำนวน265 โรงเรียน จาก 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ครอบคลุมโรงเรียนในสังกัด สพฐ. 226 แห่ง สช. 17 แห่ง และ อปท. 22 แห่ง ซึ่งจะเริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในช่วงชั้นที่ 1 ป.1-ป.3 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ตลอดจนจัดเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถาม เปิดรับความคิดเห็นผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของกระทรวงศึกษาธิการ และเว็บไซต์หลักสูตรฐานสมรรถนะ http://www.cbethailand.com”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่