ศธ.ยังไม่ปิดโรงเรียนเพิ่ม การเรียนการสอนยังรับได้อยู่ เล็งหารือ ‘ดีอีเอส’ ช่วยสนับสนุนอินเทอร์เน็ต
ศธ.ยังไม่ปิดโรงเรียนเพิ่ม การเรียนการสอนยังรับได้อยู่ เล็งหารือ ‘ดีอีเอส’ ช่วยสนับสนุนอินเทอร์เน็ต

ศธ.ยังไม่ปิดโรงเรียนเพิ่ม การเรียนการสอนยังรับได้อยู่ เล็งหารือ ‘ดีอีเอส’ ช่วยสนับสนุนอินเทอร์เน็ต รับทราบครูอาจจะมีความลำบาก มีค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์เอกสาร และมีความลำบากในการสื่อออนไลน์มากขึ้น ไม่ต่อสัญญาช่องทีวีดิจิทัล แต่จะนำงบประมาณมาจัดสรรให้มีประสิทธิภาพ อาจจะนำงบประมาณมาใช้แก้ไขปัญหาในส่วนอื่นๆ ต่อไป

4 มกราคม นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงทั้ง 4 องค์กรหลักของ ศธ. ว่า หลังจากที่ได้สั่งการปิดสถานศึกษาใน 28 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ตั้งแต่วันที่ 4-31 มกราคม 2564 เพื่อให้นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษา ให้ได้รับความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 แต่ต้องวางแผนรับมือปัญหาที่ตามมาให้มีผลกระทบน้อยที่สุด เช่น การปรับการเรียนการสอน การเปิด-ปิดภาคเรียน และการสมัครเข้าเรียนในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 เป็นต้น ซึ่งตนมองว่าในสถานการณ์นี้ ศธ.ยังสามารถบริหารจัดการได้อยู่ แต่ต้องเตรียมการสนับสนุนครูที่อาจจะมีความลำบาก มีค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์เอกสาร และมีความลำบากในการสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยตนจะหารือกับนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อหาทางช่วยเหลือ และสนับสนุนเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ศธ.ยังไม่ปิดสถานศึกษาเพิ่ม เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ปกครอง ซึ่งตนจะรอฟัง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ประกาศอีกครั้ง ถ้า ศบค.สนับสนุนให้ประชาชนทำงานที่บ้าน ก็จะทำให้ผู้ปกครองอยู่บ้านดูแลบุตรหลานได้ ส่วนจะมีการเลื่อนปิดภาคเรียนหรือไม่นั้น ตนมองว่าขณะนี้ช่วงเวลาการเรียนยังรับได้อยู่ เพราะยังไม่กระทบต่อการจัดการศึกษาในภาพรวมของนักเรียนทั้งประเทศ แต่ในอนาคตศธ.จะนำชั่วโมงเรียนมาเป็นตัวกำหนดในการปิดเรียน หรือการคำนวณผลการเรียนต่อไป ส่วนการสอบเข้า ม.1 และ ม.4 ตนเห็นว่ายังสามารถบริหารจัดการได้อยู่ โดยอาจจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อาจจะจัดสอบคนละเวลา เป็นต้น แต่ทั้งนี้จะต้องหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะหารือวางแผนจัดการเรื่องนี้อีกครั้ง

เมื่อถามว่า ขณะนี้สัญญาณใช้สื่อการสอนของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระราชูปถัมภ์ (ดีแอลทีวี) ผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิทัลหมดลงแล้ว ศธ.จะต่อสัญญาณหรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบแรก ศธ. พบว่าช่องทีวีที่นักเรียนใช้มากมีอยู่ 3 ช่องเท่านั้น ถ้า ศธ.ยังเปิดช่องดีแอลทีวีเหมือนเดิม จะมีค่าใช้จ่าย 3.5 ล้าน ต่อช่องต่อเดือน จึงคิดว่าคงจะไม่ต่อสัญญาณต่อ แต่จะนำงบประมาณมาจัดสรรให้มีประสิทธิภาพ อาจจะนำงบประมาณมาใช้แก้ไขปัญหาในส่วนอื่นๆ เพราะปัจจุบันยังไม่มีการแพร่ระบาดที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ถือเป็นแนวทางที่ ศธ.จะนำไปบริหารจัดการต่อไป ทั้งนี้ตนขอบคุณดีแอลทีวี ที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือการศึกษาของประเทศท่ามกลางการเกิดวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา

ขอบคุณที่มา : Facebook มองมุมใหม่ Five Focus http://www.focusnews.in.th/9503

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่