ศธ.พร้อมแจก1.5ล้านกล่องรับสัญญาณให้เด็กเรียนผ่านทีวี
ศธ.พร้อมแจก1.5ล้านกล่องรับสัญญาณให้เด็กเรียนผ่านทีวี "ครูตั้น" เผย 18 พ.ค.ถกผู้ว่าฯ 9 จังหวัดรับมือเปิดเรียนตามปกติ

ศธ.พร้อมแจก1.5ล้านกล่องรับสัญญาณให้เด็กเรียนผ่านทีวี “ครูตั้น” เผย 18 พ.ค.ถกผู้ว่าฯ 9 จังหวัดรับมือเปิดเรียนตามปกติ เมื่อวันที่ 14 พ.ค.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV)  และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงเตรียมความพร้อมการจัดการศึกษาทางไกลผ่านระบบดิจิทัล ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ศธ.จัดช่องการเรียนการสอนทางไกลผ่านสัญญาณฟรีทีวี 17 ช่องตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่วนระดับม.4 ม.5 และ ม.6 จะใช้สื่อออนไลน์เป็นการอัดคลิปครูเก่งทั่วประเทศและแพลตฟอร์มที่ศธ.ได้พัฒนาขึ้น โดยจะเริ่มทดสอบระบบการเรียนผ่านออนไลน์และช่องทีวีดิจิทัลในวันที่ 18 พ.ค.นี้ ซึ่งขอย้ำว่าการเรียนการสอนผ่านทีวีและออนไลน์เป็นมาตรการหนึ่งที่ศธ.เตรียมความพร้อมไว้รับมือกับโรคไวรัสที่ยังไม่พ้นวิกฤต ดังนั้นหากในวันที่ 1 ก.ค.สถานการณ์คลี่คลายแล้วโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกติ สำหรับการเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอนช่วงโควิดนี้ศธ.ต้องการให้เด็กทุกคนทั่วประเทศได้รับการเติมเต็มคุณภาพการศึกษาอย่างเต็มที่

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในวันที่ 18 พ.ค.ตนจะมีการประชุมผ่านวิดิโอคอนเฟอเรนท์ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อหารือถึงประเด็นการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 ก.ค.เนื่องจากหากสถานการณ์ในจังหวัดไหนไม่พบผู้ติดเชื้อก็จะให้มีการจัดการเรียนการสอนตามปกติได้

เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเป็นผู้กำหนดในฐานะเป็นผู้มีอำนาจในการคงไว้ซึ่งพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จะดำเนินการให้สอดคล้องกับการเปิดเรียนและมีข้อเสนอแนะในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ส่วนกล่องดิจิทัลที่จะนำมาใช้ติดตั้งกับโทรทัศน์ที่ไม่สามารถรับสัญญาณจากภาคพื้นได้นั้น

ล่าสุดตนได้หารือ กสทช.แล้วสามารถสนับสนุนให้ได้จำนวน 2 ล้านกล่อง แต่ทั้งนี้เราไม่ได้หมายความว่าจะแจกให้นักเรียนทั้งหมดทุกคน โดยมอบหมายให้ สพฐ.ไปสำรวจดูว่ามีนักเรียนคนใดที่มีความจำเป็นจะต้องใช้กล่องดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีนักเรียนที่มีความจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนกล่องรับสัญญาณ 1.5 ล้านกล่อง
 
“สำหรับการประเมินผลการเรียนของเด็กในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์นั้นจะให้แต่ละโรงเรียนติดตามคะแนนของเด็กจากการทำแบบฝึกหัดและบันทึกไว้ หากโรงเรียนไหนไม่จัดทำบันทึกเก็บข้อมูลเอาไว้จะให้สพฐ.ลงไปตรวจสอบดูว่าเป็นเพราะเหตุใดผู้บริหารโรงเรียนถึงไม่มีความสามารถบริหารจัดการได้ เนื่องจากตอนนี้ภาระงานของครูก็ไม่ได้มากเหมือนแต่ก่อนแล้ว” นายณัฏฐพล กล่าว

ขอบคุณที่มาและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : เดลินิวส์ออนไลน์ 14 พฤษภาคม 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่