รมว.ศธ. ชี้แจงความคืบหน้า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปรับแก้ไขใน 3 ประเด็น จากข้อเรียกร้อง 4 ประเด็น
รมว.ศธ. ชี้แจงความคืบหน้า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปรับแก้ไขใน 3 ประเด็น จากข้อเรียกร้อง 4 ประเด็น

รมว.ศธ. ชี้แจงความคืบหน้า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปรับแก้ไขใน 3 ประเด็น จากข้อเรียกร้อง 4 ประเด็น

รมว.ศธ. ชี้แจง “ความก้าวหน้า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ” ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณางบประมาณปี 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อภิปรายชี้แจงข้อซักถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง #ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 1 เพื่อพิจารณาและอภิปราย (ร่าง) พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 

รมว.ศธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542เสมือนธรรมนูญการศึกษา เป็นกฎหมายกลางของการศึกษา เพื่อดูแลการจัดการศึกษาของประเทศ ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ทั้งจัดโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ปฏิรูปการศึกษาไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของทางรัฐบาล สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาวงการการศึกษาของประเทศให้เท่าทันสังคมโลก

โดยร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ ตลอดจนได้นำข้อกังวลของครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง หารือกับรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) พร้อมส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ปรับแก้ไขใน 3 ประเด็น ได้แก่ 

1  การกำหนดให้วิชาชีพครู เป็นวิชาชีพชั้นสูง

2. ปรับแก้ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู เป็นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และ 

3. ปรับแก้หัวหน้าสถานศึกษา เป็นผู้บริหารสถานศึกษา 

ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และขั้นตอนต่อไปจะนำร่างพระราชบัญญัตินี้เข้าสู่การประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในระบบรัฐสภา และจะผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วย

ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนในการจัดการศึกษาในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนที่แตกต่างไปจากเดิม เน้นพัฒนาให้เด็กมีสมรรถนะในการนำองค์ความรู้ไปปรับใช้กับชีวิต สามารถคิดวิเคราะห์ในมุมมองที่แตกต่าง มีความคิดอย่างรอบด้าน มีวิจารณญาณ 

ในส่วนของครู ก็จะต้องมุ่งเน้นพัฒนาครูให้มีคุณภาพ มีจิตวิญญาณความเป็นครู ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการปรับปรุงหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 พร้อม ๆ กับจัดอบรมเตรียมความพร้อมให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา ในเรื่องของหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยเฉพาะการสอนแบบ Active learning ที่เป็นการเรียนรู้ตามความเป็นจริง ตามสถานการณ์จริง เน้นการพัฒนาและการจัดระบบนิเวศทางการเรียนรู้ ซึ่งขอให้มั่นใจว่า หลักสูตรนี้พัฒนาขึ้นมาโดยเน้นองค์ความรู้เช่นเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ วิธีการของครูที่จะใช้สอนให้เด็กเข้าถึงองค์ความรู้นั้น อาจจะนำสิ่งรอบตัวมาปรับใช้ให้เห็นภาพจริงมากขึ้น กระตุ้นให้เด็กได้มีการคิดวิเคราะห์ และคิดวิเคราะห์ด้วยตนเองได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัตินี้ จะมีความอิสระมากขึ้น 

เน้นให้สถานศึกษามีความเป็นเอกภาพ เกิดการบูรณาการในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สามารถจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและอิสระทางวิชาการ รองรับการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงของสังคมโลก สอดคล้องกับข้อซักถามของสมาชิกผู้แทนราษฎร จะเห็นได้ว่า กระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล เห็นความสำคัญของการทำให้โรงเรียนมีความอิสระมากขึ้น

พร้อมทั้งยังได้ดำเนินการโครงการจัดการศึกษาใน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ภายใต้พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว มีเป้าหมายให้โรงเรียนจัดทำหลักสูตรที่มีความหลากหลาย โดยมีโรงเรียนเข้าร่วม 413 แห่งใน 8 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริหารโรงเรียนมีความประสงค์จะเข้ามามีส่วนร่วมทดลองหลักสูตร และการบริหารจัดการที่มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ออกแบบกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการยิ่งขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม องค์กรครูยังคาใจว่าในการปรักแก้ไข ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาชาติดังกล่าวยังไม่มีการปรับแก้ในข้อ 4.ให้ปรับปรุงโครงสร้างเพื่อรองรับการกระจายอำนาจ แต่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กลับส่งไปให้กฤษฎีกาแก้ไขเพียง 3 ข้อแรกเท่านั้น โดยไม่นำเสนอข้อที่ 4 แต่อย่างใด จึงเป็นที่สงสัย คลางแคลงใจอย่างยิ่งว่า ทำไมจึงไม่ส่งประเด็นนี้ไป และนายกรัฐมนตรีได้ทราบข้อเสนอนี้จากที่ประชุมหรือไม่

ขอบคุณที่มา ; Facebook OEC News สภาการศึกษา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่