คืบหน้า วPA!! ก.ค.ศ. เตรียมทดลอง ใช้ระบบประเมินวิทยฐานะใหม่ (PA) ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 177 โรงเรียน
คืบหน้า วPA!! ก.ค.ศ. เตรียมทดลอง ใช้ระบบประเมินวิทยฐานะใหม่ (PA) ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 177 โรงเรียน

คืบหน้า วPA!! ก.ค.ศ. เตรียมทดลอง ใช้ระบบประเมินวิทยฐานะใหม่ (PA) ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 177 โรงเรียน ก.ค.ศ. ประชุมหารือเตรียมทดลองใช้ระบบประเมินวิทยฐานะใหม่ (PA) ในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 177 โรงเรียน ก่อนเปิดระบบ 1 ตุลาคม 2564 นี้

วันที่ 4 มีนาคม 2564 รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นประธานการประชุมหารือการวิจัยพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อเตรียมการทดลองประเมินวิทยฐานะตามระบบใหม่ของ สำนักงาน ก.ค.ศ.ณ ห้องประชุมจรูญ มิลินทร์ (ห้องประชุม 1 ชั้น 7) อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ

ตามที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใหม่ รวมถึงได้จัดทำ (ร่าง) หลักเกณฑ์หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน และสายงานบริหารสถานศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการทดลองใช้ระบบการประเมินแบบใหม่ สำนักงาน ก.ค.ศ. จึงได้เชิญสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) ของ สพฐ. ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้แก่ รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ ทัณตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ นางปิยาภรณ์ มัณฑจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล

ซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่นวัตกรรม 3 จังหวัด พร้อมกับผู้แทน สพฐ. ได้แก่ นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา และนายพิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เข้าร่วมการประชุมหารือ เตรียมทดลองใช้ระบบประเมินวิทยฐานะฯ ใหม่ ในโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสตูล จำนวน 14 โรงเรียน จังหวัดระยอง จำนวน 47 โรงเรียน และจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 116 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 177 โรงเรียน ซึ่งจะเริ่มทดลองในภาคเรียนหน้า โดยจะให้ครู และผู้บริหารสถานศึกษา ทำข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement : PA) และจะทดลองประเมินผลงาน คลิปการสอน และพัฒนาผู้ประเมินภายในเวลาเดียวกัน

โดยการทดลองประเมินวิทยฐานะฯ ตามระบบใหม่ เป็นการทดลองว่าวิธีการประเมินจะเป็นไปตามตัวชี้วัด ต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ เช่น ทดลองจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาการสอน การทำข้อตกลงในการประเมินระหว่างครูกับผู้อำนวยการสถานศึกษา การทำข้อตกลงในการประเมินระหว่างผู้บริหารสถานศึกษากับผู้บังคับบัญชาขั้นต้น การผลิตสื่อวิดีทัศน์บันทึกการสอนเพื่อใช้ในการประเมินวิทยฐานะฯ ใช้เวลาในการทดลองในช่วง 1 ภาคเรียน หลังจากนั้นจะได้นำข้อมูลมาประเมิน สรุปผล และดำเนินการสร้างความเข้าใจในหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะฯ ตำแหน่งครู และตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ก่อนที่จะเปิดใช้ระบบ Digital Performance Appraisal : DPA พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงาน ก.ค.ศ.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่