แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะใน 9 สาระการเรียนรู้ หลักสูตรฐานสมรรถนะ ช่วงชั้นที่ 2 (ร่างกรอบหลักสูตรหลังประชุมวิพากษ์)
แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะใน 9 สาระการเรียนรู้ หลักสูตรฐานสมรรถนะ ช่วงชั้นที่ 2 (ร่างกรอบหลักสูตรหลังประชุมวิพากษ์)

แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะใน 9 สาระการเรียนรู้ หลักสูตรฐานสมรรถนะ ช่วงชั้นที่ 2 (ร่างกรอบหลักสูตรหลังประชุมวิพากษ์)

ภาษาไทย (10/ม.ค./65)

ความสำคัญของสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

การใช้ภาษาไทยเป็นสมรรถนะที่ต้องได้รับการฝึกฝนเพื่อให้สามารถสื่อสารในบริบทต่าง ๆ ได้อย่าง
มีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามกาลเทศะ และมีมารยาท รวมทั้งสามารถใช้เรียนรู้ได้ทั้งในและนอกโรงเรียน

สาระการเรียนรู้นี้ มีสมรรถนะเฉพาะ 4 สมรรถนะ ได้แก่

1) ฟัง ดู และพูดด้วยความเข้าใจ

2) อ่านด้วยความเข้าใจ

3) เขียนแสดงความเข้าใจ

4) เข้าใจธรรมชาติของภาษาและการใช้ภาษาไทย

ผลลัพธ์การเรียนรู้เมื่อจบช่วงชั้นที่ 2

  1. ฟังและ/หรือดูสื่อต่าง ๆ แล้วสามารถวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ พูดสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ พูดแสดงการคิดวิเคราะห์ ความรู้ ความรู้สึก และความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลและสร้างสรรค์ รวมทั้งสามารถเลือกฟังและดูสื่อที่เหมาะสมแก่ตนเอง
  2. พูดโน้มน้าว พูดปฏิเสธ และพูดโต้ตอบด้วยความมั่นใจอย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งพูดแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกเกี่ยวกับการพูดของตนและผู้อื่นอย่างเป็นกลางและสร้างสรรค์
  3. อ่านออกเสียงบทร้อยแก้วและบทร้อยกรองได้ถูกต้อง เหมาะสม และไพเราะ
  4. อ่านวิเคราะห์ความหมายของข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ ได้ถูกต้อง และนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์
  5. อ่านเรื่องจากสื่อต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีและวรรณกรรม แล้วสามารถตั้งคำถาม ตอบคำถาม จับใจความสรุปความ วิเคราะห์ ตีความ ประเมินค่า แสดงความคิดเห็น และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ตลอดจน มีนิสัยรักการอ่าน
  6. เขียนสื่อสารในสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยลายมือที่เป็นไปตามมาตรฐานโครงสร้างตัวอักษรไทย โดยใช้คำได้ถูกต้องและเหมาะสม
  7. เขียนสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ ได้ถูกต้องตามมาตรฐาน รวมทั้งเขียนแสดงความรู้สึกและความคิดเห็นด้วยตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ได้เหมาะสมกับบุคคล โอกาส และกาลเทศะ ตลอดจนเขียนประเมินงานเขียนของทั้งตนเองและผู้อื่นอย่างเป็นกลางและสร้างสรรค์
  8. เขียนโครงเรื่องและแผนภาพความคิด แล้วนำไปเขียนเรื่องตามจินตนาการและเรียงความได้ถูกต้องและเหมาะสม
  9. ใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนในสถานการณ์ต่าง ๆ รวมทั้งภาษาไทยมาตรฐานได้ถูกต้อง เหมาะสมกับบุคคลโอกาส และกาลเทศะ ตลอดจนเข้าใจความหลากหลายของผู้อื่นโดยเรียนรู้ผ่านภาษาถิ่น
  10. ใช้คำ คำยืม คำราชาศัพท์ และสำนวนได้ถูกต้อง เหมาะสมกับบุคคล โอกาส และกาลเทศะ รวมทั้งใช้ ประโยคสื่อสารได้ถูกต้องตามหลักภาษา
  11. แต่งบทร้อยกรองได้ถูกต้องและมีวรรณศิลป์ ตลอดจนนำไปใช้ประกอบการพูด การนำเสนอ หรือการเขียนให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
  12. มีเจตคติที่ดีต่อการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง

แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ สาระการเรียนรู้ภาษาไทย คลิกที่นี่

ดาวน์โหลดสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ช่วงชั้นที่ 2 คลิกที่นี่

รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก : https://cbethailand.com

คณิตศาสตร์ (5/ม.ค./65)

ความสำคัญของสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์

คณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาความคิดของนักเรียนในช่วงชั้นที่ 1 ทำให้สามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และตัดสินใจอย่างมีเหตุผล การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนจะส่งผลให้นักเรียนมีความสามารถในการคิดอย่างมีเหตุผล สื่อสารนำเสนอ คิดสร้างสรรค์ และสามารถเลือกใช้เครื่องมือ

ในการนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือ
ในการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนศาสตร์อื่น ๆ เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ใกล้ตัว อยู่ร่วมกับธรรมชาติและผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข

ผลลัพธ์การเรียนรู้เมื่อจบช่วงชั้นที่ 2

1. สื่อสารทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับจำนวนนับ เศษส่วน ทศนิยม ร้อยละและอัตราส่วนได้ถูกต้อง และนำไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
2. อธิบายความสัมพันธ์ของจำนวนนับ เศษส่วน ทศนิยม และร้อยละ เปรียบเทียบและเรียงลำดับจำนวนนับ เศษส่วน และทศนิยม พร้อมให้เหตุผล
3. อธิบายความสัมพันธ์ของแบบรูป แสดงแนวคิดประกอบการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ สร้างข้อคาดการณ์และข้อสรุป และแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลายหรือแตกต่างจากเดิม
4. อธิบายสถานการณ์ในชีวิตจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินการของจำนวนนับ เศษส่วน และทศนิยม สร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์ในการดำเนินการ หาผลลัพธ์ของการดำเนินการได้อย่างคล่องแคล่ว ยืดหยุ่น รอบคอบ และแปลความหมายภาษาและสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์เป็นสถานการณ์ในชีวิตจริง
5. แก้ปัญหาเกี่ยวกับจำนวนนับ เศษส่วน ทศนิยม ร้อยละและอัตราส่วนในสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยแนวคิดที่หลากหลายหรือแตกต่างจากเดิม อย่างมุมานะ และกระตือรือร้น พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนแนวคิดร่วมกับผู้อื่นโดยตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
6. สื่อสารเกี่ยวกับระยะเวลาได้ถูกต้อง และแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างมุมานะ และกระตือรือร้น
7. สื่อสารทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับจุด มุม เส้นตรง ส่วนของเส้นตรง รังสี เส้นตั้งฉาก และเส้นขนาน โดยใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ได้ถูกต้อง พร้อมทั้งอธิบายสมบัติของเส้นขนาน และนำไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ
8. ให้เหตุผล สร้างข้อคาดการณ์และข้อสรุปเกี่ยวกับสมบัติของรูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยม วงกลม และขยายแนวคิดเพื่อหาความยาวรอบรูปและพื้นที่ของรูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยม และวงกลมในสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยวิธีที่หลากหลาย
9. ให้เหตุผลในการจำแนก อธิบายลักษณะและส่วนต่าง ๆ ของแบบจำลอง และสร้างแบบจำลองของปริซึม พีระมิด ทรงกระบอก กรวย และทรงกลม สร้างข้อคาดการณ์และข้อสรุปเกี่ยวกับการหาปริมาตรและความจุของทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก และหาปริมาตรและความจุของทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก
10.แก้ปัญหาเกี่ยวกับความยาวรอบรูปและพื้นที่ของรูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยม และวงกลม ปริมาตรและความจุของทรงสี่เหลี่ยมมุมฉากในสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยแนวคิดที่หลากหลายหรือแตกต่างจากเดิม อย่างมุมานะ และกระตือรือร้น พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนแนวคิดร่วมกับผู้อื่น
11. จัดการข้อมูล และนำเสนอข้อมูลด้วยแผนภูมิแท่ง ตาราง กราฟเส้น แผนภูมิรูปวงกลม ได้อย่างเหมาะสม โดยใช้เทคโนโลยี วิเคราะห์และแปลความหมายของข้อมูลจากสื่อต่าง ๆ สื่อสารและใช้ข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ อธิบายเหตุการณ์ คาดการณ์ หรือตัดสินใจอย่างรู้เท่าทัน
12.ร่วมกันวางแผน มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาทางสถิติในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนและชุมชน อย่างมุมานะ กระตือรือร้น และสร้างสรรค์

แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ สาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ คลิกที่นี่

ดาวน์โหลด สาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 2

รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก : https://cbethailand.com/

ภาษาอังกฤษ (13/ม.ค./65)

ความสำคัญของสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

ด้วยภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลที่มีการใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุดภาษาหนึ่งและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นทักษะสำคัญของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน การแสดงออก การจัดการตนเอง การแสวงหาความรู้ เชื่อมโยงกับวิชาอื่น ๆ การศึกษาต่อ และการประกอบอาชีพ อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ผลลัพธ์การเรียนรู้เมื่อจบช่วงชั้นที่ 2

  1. ใช้คำศัพท์พื้นฐาน วลี ประโยค ข้อความที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ตนเอง ครอบครัว บุคคล โรงเรียน และสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ได้อย่างมั่นใจและถูกต้อง
  2. ฟัง พูด สนทนาโต้ตอบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูล รวมทั้งการสื่อความหมาย ความรู้สึก อารมณ์ ต่อสถานการณ์ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง
  3. อ่านและตอบคำถามเกี่ยวกับข้อมูลต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับช่วงวัยได้อย่างถูกต้อง
  4. อ่านเพื่อบอกใจความสำคัญ และรายละเอียดที่เหมาะสมกับช่วงวัยได้อย่างถูกต้อง
  5. เขียนเพื่อแสดงความคิดเห็น และความรู้สึกของตนเอง เกี่ยวกับเรื่องใกล้ตัวและกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
  6. เขียนให้ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง เหตุการณ์ปัจจุบัน และประเด็นต่างๆ ที่สนใจ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
  7. สนทนาและโต้ตอบข้อมูลเกี่ยวกับของตนเอง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล ในการปฏิบัติกิจกรรมร่วมกันกับผู้อื่น ได้อย่างเหมาะสม
  8. ใช้ภาษาเพื่อสืบค้นข้อมูลจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ และแลกเปลี่ยนความรู้ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
  9. แสวงหาความรู้และสร้างผลงานทางภาษาอย่างสร้างสรรค์ผ่านการนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย จากการฟัง ดูหรืออ่านข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์และสถานการณ์รอบตัวได้อย่างถูกต้อง
  10. ใช้ภาษาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนยอมรับ และเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม

แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ สาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ คลิกที่นี่

ดาวน์โหลด สาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษช่วงชั้นที่ 2

รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก : https://cbethailand.com/

ศิลปะ (14/ม.ค./65)

ความสำคัญของสาระการเรียนรู้ศิลปะ

พัฒนาการการเรียนรู้ด้านสุนทรียศาสตร์ (ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์)

เด็กประถมต้น (ช่วงชั้นที่ 1) เป็นวัยที่สมองกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ขยายความจุอย่างมาก จึงเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสทองในการพัฒนาสมองที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่

1) พัฒนาสมองส่วนเชื่อมต่อ (Corpus Callosum) เพื่อสร้างสมดุลระหว่างสมองซีกซ้ายและซีกขวา ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทั้ง Psychomotor ความเข้าใจเชิงโครงสร้าง เชิงระบบ รวมถึงการทำงานเซลล์กระจกเงา (Mirror Neurons) ใน Premotor Cortex ซึ่งเป็นเซลล์ที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ที่เรียนรู้จากการสังเกตและเลียนแบบผู้อื่น

2) พัฒนาการทำงานของสมองส่วนหน้าให้เกิดโครงข่ายของเซลล์ประสาทในชุดที่รับรู้ความละเอียดประณีต ซับซ้อน การตัดสินใจ การคิดวิจารณญาณ การสะท้อนคิดอย่างลึกซึ้ง (Executive Function)

3) การพัฒนาของสมองส่วนหน้าที่ไปช่วยกำกับการทำงานของสมองส่วน Limbic System และ Amygdala ที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความทรงจำ

4) การพัฒนาสมองส่วน Cerebellum ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย มีจังหวะ ท่วงที ลีลา และการทำงานของร่างกายทุกส่วนกับขอบเขตและมิติของพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยศิลปะทั้งทัศนศิลป์และดนตรีเป็นฐานปฏิบัติเรียนรู้ และสามารถกระตุ้นพัฒนาการของสมองทั้ง 4 หน้าที่ดังกล่าวได้โดยตรง

ผลลัพธ์การเรียนรู้เมื่อจบช่วงชั้นที่ 2

1. แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความงามจากการสัมผัส รับรู้ธรรมชาติ สภาพแวดล้อมและผลงานศิลปะ อธิบายถึงแรงบันดาลใจและความชื่นชมของตนเองเกี่ยวกับผลงานศิลปะ (ทัศนศิลป์ ดนตรี นาฏศิลป์) มีสมาธิและมีความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

2. สร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ที่ตนเองชื่นชอบ ถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก จินตนาการ สะท้อนถึงธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เรื่องราวใกล้ตัว ในชีวิตประจำวันที่เชื่อมโยงกับตนเอง ครอบครัว โรงเรียนและท้องถิ่นด้วยการเชื่อมโยงส่วนประกอบทางทัศนศิลป์ จัดองค์ประกอบทางศิลปะเป็นผลงานทัศนศิลป์ได้อย่างหลากหลาย และประยุกต์ใช้เทคนิควิธีการใหม่ด้วยกระบวนการกลุ่ม และเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ศิลป์และภูมิปัญญาท้องถิ่น

3. ขับร้องและบรรเลงได้ตามจังหวะ ทำนองเพลงและสื่ออารมณ์ของบทเพลงได้อย่างถูกต้อง ใช้เครื่องหมายสัญลักษณ์ตัวโน้ตในการขับร้องและบรรเลงเพลง จำแนกและเปรียบเทียบความเหมือนและแตกต่างของแนวเพลงและเครื่องดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีสากลจากภาพและเสียง

4. ขับร้อง และบรรเลงรวมวงดนตรีพื้นบ้าน วงดนตรีไทย วงดนตรีสากลประเภทต่าง ๆ ผสมผสานเป็นแนวเพลงร่วมสมัย ด้วยความมั่นใจ ถูกต้องตามทำนอง จังหวะ และมีความไพเราะ เผยแพร่ผ่านสื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ รับฟัง แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเสียงดนตรีของตนเองและผู้อื่น ด้วยความสุภาพและสร้างสรรค์ ชื่นชม และนำมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรม วันสำคัญ เทศกาลต่าง ๆ

5. สืบค้น และเปรียบเทียบ ประวัติความเป็นมา ความเหมือนและความแตกต่างของนาฏศิลป์ไทย และนาฏศิลป์ประเทศเพื่อนบ้าน จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยี ใช้ภาษาท่า นาฏยศัพท์ ในการสื่อความหมาย แสดงนาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์พื้นบ้าน หรือนาฏศิลป์ร่วมสมัยใน รูปแบบต่าง ๆ ทั้งเดี่ยวและกลุ่ม อย่างมั่นใจและงดงาม สะท้อนอารมณ์ของตนเอง และสร้างสรรค์การเคลื่อนไหวในรูปแบบการแสดงต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น อย่างสร้างสรรค์ เหมาะสมกับวัย

6. แสดงออกถึงการรับรู้และชื่นชมความงามด้วยหลักการทางองค์ประกอบศิลป์ แสดงอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก ความประทับใจ และนำเสนอผลงานศิลปะ (ทัศนศิลป์ ดนตรี นาฏศิลป์) ด้วยความมั่นใจ วิเคราะห์ วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับงานศิลปะ ทั้งของตนเองของผู้อื่น อย่างสุภาพ รับฟัง ปรับปรุงผลงานของตนให้สมบูรณ์

7. เชื่อมโยงผลงานศิลปะ (ทัศนศิลป์ ดนตรี นาฏศิลป์) กับวัฒนธรรม ชีวิตประจำวันเป็นสื่อแสดงความงามได้อย่างอิสระ รวมทั้งการร่วมสร้างงานศิลปะ โดยประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว ชุมชน ท้องถิ่

แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ สาระการเรียนรู้ศิลปะ คลิกที่นี่

ดาวน์โหลด สาระการเรียนรู้ศิลปะ ช่วงชั้นที่ 2

รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก : https://cbethailand.com/


สุขศึกษาและพลศึกษา (11/ม.ค./65)

ความสำคัญของสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา

สาระการเรียนรู้นี้ช่วยให้ผู้เรียนมีสุขภาวะทั้งกายและจิต ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากเกี่ยวโยงกับทุกมิติ

ของชีวิต ในช่วงชั้นที่ 1 นี้ เป็นการเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพพื้นฐาน การเห็นคุณค่าแห่งตน การสร้างสัมพันธภาพ การมีกิจกรรมทางกาย และการใช้ข้อมูลสารสนเทศทางสุขภาพ

สาระการเรียนรู้นี้ มีสมรรถนะเฉพาะ 4 สมรรถนะ ได้แก่

1) เจริญเติบโตด้วยสุขภาพกายและจิตที่ดี

2) ใช้ทักษะในการดำเนินชีวิตและสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

3) มีกิจกรรมทางกายอย่างสนุกสนานและปลอดภัย

4) ใช้ข้อมูลสารสนเทศสร้างเสริมสุขภาพที่ดี

สาระการเรียนรู้นี้ มีสมรรถนะเฉพาะ 4 สมรรถนะ ได้แก่

ผลลัพธ์การเรียนรู้เมื่อจบช่วงชั้นที่ 2

  1. ดูแลรักษาร่างกายและสุขภาพของตนเองให้ทำงานตามปกติ  โดยวิเคราะห์เหตุและผลของการรับประทานอาหาร การขับถ่าย การเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การพักผ่อนและการนอนหลับที่ส่งผลต่อการมีสุขภาพดีและการเจริญเติบโต รับรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการสร้างเสริมสุขภาพ  ข้อมูลบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ  สื่อโฆษณา ในการตัดสินใจเลือกซื้อและเลือกใช้อย่างมีเหตุผล
  2. ดูแลสุขภาพทางเพศตามช่วงวัย ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศและไม่แสดงพฤติกรรมคุกคามทางเพศผู้อื่นทั้งกายและวาจา ด้วยความเข้าใจในผลเสียหรืออันตรายที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงอันอาจนำไปสู่ปัญหาทางเพศและผลกระทบอื่น ๆ ที่ตามมา รู้ทันสื่อ และระวังอันตรายจากบุคคลที่รู้จักผ่านทางออนไลน์ซึ่งอาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ การข่มเหงรังแก และการใช้ความรุนแรงทางออนไลน์  โดยหาทางออกได้อย่างเหมาะสม ปรึกษาและขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่ไว้ใจหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ หลีกเลี่ยงและปฏิเสธอย่างรู้ทันสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยและไม่เหมาะสม
  3. หลีกเลี่ยงบุคคล สถานการณ์ สถานที่ สภาพแวดล้อม ที่จะนำไปสู่การเกี่ยวข้องกับบุหรี่ สุรา สารเสพติด การติดเกมและการพนัน โดยเข้าใจผลเสียที่มีต่อร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ตลอดจนชักชวนให้ผู้อื่นหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
  4. ป้องกันและหลีกเลี่ยงโรคและอุบัติเหตุที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน แจ้งผู้ใหญ่เพื่อขอความช่วยเหลือ บอกปัญหาสุขภาพของตนเอง ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ ให้การปฐมพยาบาลได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม และแสดงพฤติกรรมที่รับผิดชอบต่อสุขภาพของตนเองและส่วนรวมโดย รับรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ด้านการป้องกันโรค การใช้ยาและการปฐมพยาบาล เพื่อการดูแลสุขภาพที่ดี
  5. เคลื่อนไหวร่างกายแบบผสมผสานและมีกิจกรรมทางกายด้วยตนเองและร่วมกับผู้อื่น ทั้งแบบอยู่กับที่ แบบเคลื่อนที่ และแบบใช้อุปกรณ์ประกอบ ผ่านการฝึกทักษะการเคลื่อนไหวเรื่องการรับแรง การใช้แรง ความสมดุลของร่างกายอย่างมีสติ สม่ำเสมอ และคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น โดยเห็นคุณค่าของการพัฒนาสมรรถภาพทางกายอย่างต่อเนื่อง
  6. ออกกำลังกาย เล่นเกม เล่นกีฬาไทยและกีฬาสากลประเภทบุคคลและทีม ที่ตนเองชอบและมีความสามารถ โดยเห็นประโยชน์ที่เกิดกับตนเองและผู้อื่นจากการปฏิบัติเป็นประจำ เป็นทั้งผู้เล่นและผู้ดำเนินการได้อย่างเหมาะสมตามวัย ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลในการเล่นเกมและกีฬา มีความสามัคคี มีน้ำใจนักกีฬา ปฏิบัติตามกฎ กติกาและข้อตกลง วิเคราะห์ทักษะการเล่น จุดแข็ง กลวิธีการเล่นของทีมเพื่อปรับปรุงทีมให้ประสบความสำเร็จ
  7. มีสติ รู้เท่าทันอารมณ์ และความรู้สึกที่เกิดขึ้น โดยรู้ขีดจำกัดด้านอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง รู้สาเหตุของความเครียด นำไปสู่การควบคุมตนเองให้แสดงอารมณ์และความรู้สึกในสถานการณ์ต่าง ๆ และการบรรเทาความเครียดอย่างเหมาะสมและเข้าใจผลดีและผลเสียที่เกิดขึ้นต่อตนเองและผู้อื่น
  8. สร้างและรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับครอบครัว เพื่อนและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน แก้ไขความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง ยอมรับความแตกต่างระหว่างของบุคคล

แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ สาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา คลิกที่นี่

ดาวน์โหลด สาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ช่วงชั้นที่ 2

รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก : https://cbethailand.com/


สังคมศึกษา (12/ธ.ค./64)

ความสำคัญของสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา

สาระการเรียนรู้นี้ช่วยให้ผู้เรียนใช้ชีวิตทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล และการอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นพลเมืองดีของสังคม ในช่วงชั้นที่ 1 นี้ เป็นการเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว โรงเรียน และชุมชน

สาระการเรียนรู้นี้ มีสมรรถนะเฉพาะ 5 สมรรถนะ ได้แก่

1) ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่แสดงถึงความตระหนักและเห็นคุณค่าในประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมของครอบครัว โรงเรียนและชุมชน

2) ใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้อื่นโดยรักษาสิทธิของตน เคารพสิทธิของผู้อื่น และรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง

3) ใช้ชีวิตประจำวันอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

4) กำกับตนเองในการใช้จ่ายของตนเอง ครอบครัว และโรงเรียน และ

5) ใฝ่ทำความดี และอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยดีบนหลักปฏิบัติของศาสนาที่นับถือ

ผลลัพธ์การเรียนรู้เมื่อจบช่วงชั้นที่ 2

  1. มีสติ สมาธิ ในการศึกษาและทำกิจวัตรประจำวัน จัดการอารมณ์และความรู้สึกของตนเองโดยการพัฒนากาย วาจา ใจ ตามแนวทางของศาสนาที่ตนนับถือ และปฏิบัติตามหลักกุศลกรรมบถ 10 หรือหลักปฏิบัติตามคำสอนในศาสนาอื่นที่ตนนับถือ
  2. สามารถใช้ปัญญาในการช่วยเหลือเกื้อกูลและแก้ปัญหาในชีวิตของตนเอง หมู่คณะ และสังคม ตลอดถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ใช้หลักสันติวิธีในการสื่อสาร การทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในฐานะเป็นพลเมืองไทยและพลเมืองโลก บนพื้นฐานของหลักธรรมทางพุทธศาสนาและศาสนาที่ตนนับถือ รวมทั้งส่งเสริมและอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์และมีคุณค่าต่อการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง
  3. วางแผนการใช้จ่ายของตนเองและครอบครัวอย่างเหมาะสมและมีวินัย ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว ตัดสินใจบริโภคอย่างรู้ทันโฆษณา สื่อและสารสนเทศของสินค้าและบริการ ติดตามและตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในชีวิตประจำวันและกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค วางแผนการออมเงินของตนเองอย่างมีเป้าหมาย
  4. จัดลำดับความสำคัญเพื่อตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรในชีวิตประจำวัน หาทางออกร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องในการตัดสินใจกำหนดเป้าหมายและการปฏิบัติเพื่อการจัดการทรัพยากรของครอบครัวและโรงเรียน อย่างประหยัด คุ้มค่า และพอเพียง ด้วยความตระหนักถึงผลกระทบของการใช้ทรัพยากรที่มีต่อตนเอง และส่วนรวม
  5. สืบค้นคำตอบของเรื่องราว ประวัติความเป็นมา วิถีชีวิตและบุคคล จับประเด็นสำคัญ ลำดับเหตุการณ์ที่แสดงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และความต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบันของจังหวัด ภูมิภาคที่ตนอาศัยอยู่ และประเทศ นำเสนอเรื่องราวที่สืบค้นโดยแสดงข้อมูลและแหล่งหลักฐานที่เกี่ยวข้องด้วยวิธีการที่หลากหลาย และทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างเห็นคุณค่าและภาคภูมิใจในความเป็นท้องถิ่นและความเป็นไทย แสดงถึงความตระหนักของผลการกระทำในอดีตที่มีต่อปัจจุบัน ผลของการกระทำในปัจจุบันที่มีผลต่ออนาคต และการเคารพความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนในแต่ละท้องถิ่นของไทย ตลอดจนปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องแสดงถึงการเคารพสถาบันหลัก และสัญลักษณ์ของชาติไทย
  6. วิเคราะห์ความคล้ายคลึงของวัฒนธรรมไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจากการอ่านเรื่อง ดูภาพ หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับบุคคล และสื่อสารในโลกจริงและโลกเสมือนอย่างเคารพความแตกต่างหลากหลาย
    ทางวัฒนธรรมในประเทศเพื่อนบ้าน
  7. ตั้งคำถาม สืบค้น วิเคราะห์และสรุปข้อมูลวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นผลมาจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ติดตาม คาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติในจังหวัด ภูมิภาคที่ตนอาศัยอยู่ และประเทศไทย ด้วยการใช้แผนที่ รูปถ่าย ภาพถ่ายทางอากาศและภาพจากดาวเทียม เข้าร่วมกิจกรรม ร่วมเป็นอาสาสมัครในการป้องกัน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และรับมือกับภัยพิบัติในชุมชนโดยร่วมกันกำหนดแนวทาง วางแผนขั้นตอนการทำงาน บอกเหตุผลที่เลือกแนวทางนั้น และอธิบายผลดีและผลเสียที่เกิดขึ้นต่อตนเองและผู้อื่น ที่แสดงถึงความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับการดำเนินชีวิต 
  8. ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมตามบทบาทหน้าที่ ระเบียบ กฎ กติกา และวิถีวัฒนธรรมของชุมชนและท้องถิ่นด้วย
    ความรับผิดชอบต่อสังคม ชื่นชมการทำความดีของบุคคลในครอบครัว โรงเรียนและชุมชน ปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น เคารพในความหลากหลายของบุคคล ไม่กลั่นแกล้งเพื่อนทางร่างกาย วาจา และความสัมพันธ์ทางสังคม (Social bullying) ให้เกียรติ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ช่วยเหลือผู้อื่นในสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ด่วนตัดสินผู้อื่นโดยใช้อคติ แบ่งปันสิ่งของต่าง ๆ ของตนให้กับผู้อื่นตามความเหมาะสม โดยไม่สร้างความเดือดร้อนต่อตนเอง ผู้อื่น และส่วนรวม     
  9. ติดตามข่าวสารและตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับข่าวสาร เหตุการณ์ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อรับมือ ป้องกันและแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต และร่วมกันหาทางออกกับผู้เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาหรือความขัดแย้งในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยใช้กระบวนการตามวิถีประชาธิปไตย วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและยอมรับผลจากการตัดสินใจร่วมกัน รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมเป็นอาสาสมัครด้วยความรู้สึกว่าเป็นสมาชิกของชุมชน ตามกำลังของตน
  10. รู้เท่าทันและจัดการอารมณ์ เวลา ความต้องการในการใช้สื่อ สารสนเทศ และดิจิทัลอย่างเหมาะสม ประเมินความน่าเชื่อถือและผลกระทบจากการใช้สื่อสารสนเทศ สร้างและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศอย่างมีมารยาท เห็นอกเห็นใจ ให้เกียรติผู้อื่นและรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน

แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา คลิกที่นี่

แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ (ดาวน์โหลด) – CBE Thailand

รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก : https://cbethailand.com/

การจัดการในครัวเรือน (14/ม.ค./65)

ความสำคัญของสาระการเรียนรู้การจัดการในครัวเรือนและการประกอบการ

การจัดการในครัวเรือนและการประกอบการเป็นสมรรถนะที่ต้องได้รับการสร้างเสริมและลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการทำกิจกรรมและการดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย เป็นระบบ มีประสิทธิภาพด้วยความมั่นใจ

สาระการเรียนรู้นี้มีสรรมถนะเฉพาะ 4 ด้าน ประกอบด้วย

1) ดูแลบ้านและความเป็นอยู่ของสมาชิกในบ้าน รวมถึงแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ด้วยความรับผิดชอบและกระตือรือร้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการอยู่ร่วมกันด้วยดีเป็นหลัก
2) ทำงานอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสร้างงานที่แปลกใหม่หรือต่อยอดจากของเดิมด้วยตนเองหรือร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อนและผู้อื่น เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่างๆ ด้วยความรับผิดชอบ ขยัน อดทน มุ่งมั่น ซื่อสัตย์ ประณีต และมีทักษะทางสังคม ในการทำงาน
3) ค้นหาแนวทางและโอกาสในการจัดจำหน่าย หรือสร้างรายได้ตามความสนใจของตนเองและมีเจตคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพสุจริต โดยประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะพื้นฐาน การเป็นผู้ประกอบการที่ดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนาสินค้าและบริการ และ
4) ทำงานโดยใช้ทรัพยากร พลังงานและเทคโนโลยีอย่างรู้คุณค่า พอเพียง เหมาะสมกับสถานะทางเศรษฐกิจ ให้เกิดประโยชน์และคำนึงถึงผลเสียต่อตนเองและส่วนรวม สมรรถนะเฉพาะทั้ง 4 สมรรถนะดังกล่าว มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสมรรถนะหลักทั้ง 6 สมรรถนะและบูรณาการกันเป็นผลลัพธ์การเรียนรู้ช่วงชั้น 3 ข้อ ซึ่งเป็นเป้าหมายการเรียนรู้ของช่วงชั้นนี้

ผลลัพธ์การเรียนรู้เมื่อจบช่วงชั้นที่ 2

  1. ดูแลบ้านและความเป็นอยู่ของสมาชิกในบ้านรวมถึงแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ด้วยความรับผิดชอบ  กระตือรือร้นและมุ่งมั่นในการทำงาน  นำไปสู่การวางแผนและลงมือทำงานอย่างเป็นระบบโดยคำนึงถึงเหตุและผลของวิธีทำงานแบบต่างๆ   ใช้ทรัพยากร พลังงานและเทคโนโลยี อย่างรู้คุณค่า พอเพียง เหมาะสมกับสถานะทางเศรษฐกิจ ให้เกิดประโยชน์และคำนึงถึงผลเสียต่อตนเองและส่วนรวมโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการ อยู่ร่วมกันด้วยดีเป็นหลัก
  2. ทำงานอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสร้างงานที่แปลกใหม่หรือต่อยอดจากของเดิมด้วยตนเอง หรือร่วมกับเพื่อนและผู้อื่นตามหน้าที่และบทบาท ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสมโดยกำหนดเป้าหมายที่เป็นไปได้ ประยุกต์ใช้ความรู้ในการวางแผนการทำงานที่คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ลงมือทำตามแผนโดยใช้ทรัพยากร พลังงานและเทคโนโลยีอย่างรู้คุณค่าและพอเพียง ตรวจสอบแก้ไขและปรับปรุงการทำงาน  ให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ด้วยความรับผิดชอบ ขยัน อดทน มุ่งมั่น ซื่อสัตย์ ประณีต กล้าแสดงความคิดเห็น ของตนเอง  รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เข้าใจและยอมรับความสามารถของสมาชิกทีมที่แตกต่างกัน  ร่วมกันแก้ไขความขัดแย้ง  มีทักษะทางสังคม ในการทำงาน  
  3. ค้นหาแนวทางและโอกาสในการจัดจำหน่าย สร้างรายได้ตามความสนใจของตนเอง และมีเจตคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพสุจริต โดยประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะพื้นฐานของการเป็นผู้ประกอบการที่ดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในการวางแผนการผลิต การพัฒนาสินค้าและบริการอย่างเป็นระบบด้วยตนเอง หรือร่วมกับครอบครัวและผู้อื่น

แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ สาระการเรียนรู้การจัดการในครัวเรือน คลิกที่นี่

ดาวน์โหลด สาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ช่วงชั้นที่ 2

รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก : https://cbethailand.com/

วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ (5/ม.ค./65)

ความสำคัญของสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ

สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติเป็นสาระที่เน้นการสืบเสาะ (inquiry) เพื่อเข้าใจระบบธรรมชาติ การจัดประสบการณ์เรียนรู้ในช่วงชั้นนี้เริ่มจากการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัวที่สนใจและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น เน้นให้ผู้เรียนสืบเสาะและแก้ปัญหา โดยใช้ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน ใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงแหล่งข้อมูลอย่างปลอดภัย สร้างเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปรับตัวและอยู่ร่วมกับธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม และตระหนักถึงการใช้ทรัพยากร

เป้าหมายสำคัญของการจัดประสบการเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ ช่วงชั้นที่ 1

เข้าใจแนวคิดและความรู้พื้นฐานในวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สามารถใช้และเข้าถึง
เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม รู้เท่าทัน และปลอดภัย
เป็นผู้ที่มีจินตนาการ จิตวิทยาศาสตร์ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมในการใช้วิทยาศาสตร์ และ
เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์
ตระหนักถึงความสัมพันธ์ของวิทยาศาสตร์กับระบบธรรมชาติ ผลของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ
วิทยาการต่าง ๆ ที่มีต่อมวลมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในระบบธรรมชาติ

ผลลัพธ์การเรียนรู้เมื่อจบช่วงชั้นที่ 2

  1. วิเคราะห์และระบุลักษณะที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ลักษณะของสารละลายที่พบในชีวิตประจำวัน อธิบายการทำงานของอวัยวะในระบบย่อยอาหาร และความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการย่อยอาหารกับการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เกิดขึ้นในร่างกายจากหลักฐานที่รวบรวมได้อย่างกระตือรือร้น และทำงานร่วมกันโดยแบ่งบทบาทหน้าที่ กำหนดเป้าหมาย จัดลำดับขั้นตอนการทำงาน และปฏิบัติงานจนสำเร็จ
  2. สังเกต ทดลอง และอธิบายการเกิดเสียง การเคลื่อนที่ของเสียง เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงดัง เสียงค่อย และวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางเสียงโดยประเมินความน่าเชื่อถือและความสมเหตุสมผลของหลักฐาน ไม่ประพฤติตนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางเสียง และนำเสนอแนวทางการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากมลพิษทางเสียงเพื่อให้มีสุขภาพกายและจิตที่ดีด้วยวิธีการที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
  3. ร่วมกันทำงานเป็นทีมในการรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำงานอย่างเป็นขั้นตอนในการสร้างแบบจำลองเพื่ออธิบายกระบวนการเกิดเมฆ หมอก น้ำค้าง น้ำค้างแข็ง ฝน หิมะ และลูกเห็บ โดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับสถานะและการเปลี่ยนสถานะของสสารและจากข้อมูลที่รวบรวมได้
  4. วิเคราะห์แบบจำลองวัฏจักรน้ำร่วมกับข้อมูลปริมาณน้ำบนโลก เพื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำจืดที่มนุษย์นำมาใช้ได้เทียบกับปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลก ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์และเครื่องมือดิจิทัลในการจัดการและนำเสนอข้อมูลอย่างเหมาะสม และนำเสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำของคนในบ้านหรือในโรงเรียน วิเคราะห์ จัดลำดับสาเหตุของปัญหา และร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหา หรือนำเสนอแนวทางการอนุรักษ์น้ำในชุมชน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ชุมชนมีน้ำใช้อย่าง ไม่ขาดแคลน
  5. สร้างคำอธิบายและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมใน แหล่งที่อยู่ในเรื่องการปรับตัวด้านโครงสร้างและลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งมีชีวิตในการถ่ายทอดพลังงานและการเป็นที่อยู่อาศัย โดยแบ่งบทบาทหน้าที่ในการเลือกวิธีการรวบรวมข้อมูลที่เหมาะสม จัดการข้อมูล และเลือกรูปแบบการนำเสนอข้อมูลให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย และสอดคล้องกับจุดประสงค์ รับรู้ความสำคัญของความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมโดยบอกแนวทางการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมีเหตุผลและปฏิบัติตนเพื่อให้การถ่ายทอดพลังงาน การดำรงชีวิต และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเป็นไปตามธรรมชาติ
  6. อธิบายการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและการเกิดเงา คาดการณ์การมองเห็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของดวงจันทร์บนท้องฟ้า พยายามหาสาเหตุและอธิบายการเกิดปรากฏการณ์ อุปราคาได้อย่างสมเหตุสมผล โดยอาศัยความรู้เรื่องแสงกับการมองเห็น การเกิดเงา ร่วมกับการสังเกตและการสร้างแบบจำลอง สื่อสารความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนพื้นฐานของความเข้าใจอย่างมีเหตุผลและตระหนักถึงความแตกต่างในด้านความเชื่อและวัฒนธรรมของคนในสังคม นำเสนอโดยเลือกใช้สื่อและวิธีการที่เหมาะสม
  7. วิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของดาวต่าง ๆ ในระบบสุริยะกับการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตจากการสังเกตแบบจำลองระบบสุริยะและรวบรวมข้อมูล และนำเสนอโดยใช้แบบจำลองหรือในรูปแบบที่น่าสนใจ เพื่อนำไปสู่ความตระหนักว่าโลกเป็นดาวดวงเดียวในระบบสุริยะที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต
  8. สร้างคำอธิบายการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก โดยอาศัยหลักฐานและการเชื่อมโยงความรู้จากการสังเกต จากแบบจำลอง และจากข้อมูลที่รวบรวมได้ และนำเสนอประโยชน์และผลกระทบของปรากฏการณ์เรือนกระจกต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
  9. วิเคราะห์พฤติกรรมหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของตนเองและสมาชิกในครอบครัวที่ก่อให้เกิดแก๊ส เรือนกระจกด้วยเหตุและผล แสดงความคิดเห็นของตนเองและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นในการเสนอแนวทางในการลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดแก๊สเรือนกระจกและนำเสนอหรือสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่น่าสนใจและเหมาะสม และมุ่งมั่นในการลงมือปฏิบัติเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
  10. ตั้งคำถามและสมมติฐานเพื่อนำไปสู่การทดลองและอธิบายผลของแรงเสียดทานที่มีต่อวัตถุ สังเกตและอธิบายเกี่ยวกับผลของแรงโน้มถ่วงที่มีต่อวัตถุ ความสัมพันธ์ระหว่างแรงโน้มถ่วง มวล และน้ำหนักของวัตถุ และการวัดน้ำหนักของวัตถุด้วยเครื่องชั่งสปริง ประยุกต์ใช้ความรู้เรื่องแรงเสียดทาน แรงโน้มถ่วง มวล และน้ำหนัก ในการแก้ปัญหาหรืออธิบายสถานการณ์หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอผ่านสื่อหรือวิธีการที่เหมาะสม
  11. ร่วมกันทำงานเป็นทีมอย่างกระตือรือร้นในการสร้างเครื่องมือหรือเครื่องใช้อย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาหรือตอบสนองต่อความต้องการ โดยเลือกใช้ความรู้เกี่ยวกับวงจรไฟฟ้าอย่างง่าย การต่อเซลล์ไฟฟ้าแบบอนุกรม การต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าแบบอนุกรมและแบบขนาน สมบัติการนำไฟฟ้า สมบัติการนำความร้อน และสมบัติด้านความแข็งของวัสดุ ประเมินตนเองในด้านผลงานและการทำงานในบทบาทการเป็นสมาชิกของทีม

แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ คลิกที่นี่

ดาวน์โหลด สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติช่วงชั้นที่ 2

รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก : https://cbethailand.com/


เทคโนโลยีดิจิทัล (หลังการวิพากษ์)

ความสำคัญของสาระการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล

การเรียนรู้เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลมีความจำเป็นต่อคนทุกช่วงวัย สำหรับในช่วงชั้นที่ 2 เป็นวัยที่พร้อมต่อการเรียนรู้ และให้ความสนใจกับเรื่องราวใหม่ ๆ เพื่อเปิดมุมมองรอบตัวหรือในบริบทที่แตกต่างออกไป เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้นักเรียนได้ฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ และยังช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ตอบสนองต่อความสนใจเหล่านั้นได้ การจัดประสบการณ์เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงชั้นนี้เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ และสร้างพื้นฐานกระบวนการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา ใช้เหตุผลและมีตรรกะ มีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนางาน ส่งเสริมการคิดเชิงวิพากย์ สามารถค้นหา รวบรวม ประมวลผลข้อมูลเพื่อนำไปใช้แก้ปัญหา เข้าใจถึงข้อจำกัดของข้อมูลและอันตรายจากการใช้เทคโนโลยี เพื่อการใช้งานอย่างปลอดภัยและรู้เท่าทัน  

            ลักษณะเฉพาะ/ ธรรมชาติของสาระการเรียนรู้

เทคโนโลยีดิจิทัลถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน การติดต่อสื่อสาร หรือเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีดิจิทัลเกี่ยวข้องกับเครื่องมือ ระบบ และทรัพยากรต่าง ๆ ที่ใช้ในการสร้าง รวบรวม ประมวลผล จัดเก็บ แสดงข้อมูล เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลจะรวมถึงการใช้แนวคิดเชิงคำนวณในการแก้ปัญหาทั้งปัญหาทางคอมพิวเตอร์และปัญหาอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน มีทักษะในการติดต่อสื่อสาร การเข้าถึงแหล่งข้อมูล และใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย สำหรับนักเรียนในช่วงชั้นที่ 2 จะได้เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ประกอบด้วย การแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลเชิงตรรกะ อัลกอริทึม การออกแบบและเขียนโปรแกรม การรวบรวม ประมวลผล และนำเสนอข้อมูล การสร้างทางเลือก การประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมและปลอดภัย ซึ่งเป็นความรู้ในระดับพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ การดำเนินชีวิตประจำวัน พัฒนาทักษะ กระบวนการคิดที่จำเป็นในการแก้ปัญหา ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน

จุดเน้นการพัฒนา

การจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนสำหรับสาระการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ในช่วงชั้นที่ 2 ผู้เรียนจะได้เรียนรู้และได้รับการพัฒนาผ่านหัวข้อต่อไปนี้  

  • การแก้ปัญหาและการเขียนโปรแกรม

เป็นการจัดประสบการณ์เกี่ยวกับการคิดแก้ปัญหาอย่างมีตรรกะ การออกแบบวิธีการแก้ปัญหาและปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องได้ตามเงื่อนไข แสดงวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้อัลกอริทึมที่ชัดเจนเข้าใจง่าย เขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหาและปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาด มีความพยายามและมุ่งมั่นในการแก้ปัญหา

  • การจัดการและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

เป็นการจัดประสบการณ์เกี่ยวกับเกี่ยวกับข้อมูล การรวบรวม จัดเก็บ จัดเตรียม และนำข้อมูลไปประมวลผลด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ วิเคราะห์ข้อมูล สรุปผล นำเสนอข้อมูลในรูปแบบตาราง แผนภูมิ กราฟ สร้างทางเลือกจากข้อมูลและเงื่อนไขที่กำหนดและตัดสินใจเลือกทางเลือกอย่างมีเหตุผล มีมารยาทในการให้และการใช้ข้อมูล เข้าใจถึงคุณค่าและตระหนักถึงความเอนเอียงของข้อมูล

  • การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยและเหมาะสม

เป็นการจัดประสบการณ์เกี่ยวกับการใช้โปรแกรมค้นหา ระบุคำค้นที่กระชับ ตรงประเด็น ใช้เทคนิคการค้นหาข้อมูลแบบต่าง ๆ ประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลและแหล่งข้อมูล แยกแยะข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นจากข้อมูลที่พบในเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ก่อนนำข้อมูลไปใช้งาน ติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ตอย่างมีมารยาทและเข้าใจถึงผลกระทบจากการใช้งาน ปกป้องตนเองจากการระรานทางไซเบอร์ รักษาอัตลักษณ์และร่องรอยทางดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม

  • การสร้างและใช้เทคโนโลยีอย่างคุ้มค่า

เป็นการจัดประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างของเล่น ชิ้นงาน หรือสิ่งของเครื่องใช้เพื่อตอบสนองความต้องการหรือแก้ปัญหา เลือกใช้เทคโนโลยีได้ตามหน้าที่ใช้สอยและใช้อย่างคุ้มค่า

การนำไปใช้ในชีวิตจริง

เมื่อนักเรียนได้เรียนรู้และฝึกฝนสาระการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงชั้นที่ 2 จะทำให้นักเรียนมีพื้นฐานกระบวนคิดแก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างมีเหตุผล มีตรรกะ แก้ปัญหาอย่างเป็นลำดับขั้นตอนและเป็นระบบ สามารถออกแบบลำดับขั้นตอนในการแก้ปัญหาที่มีความชัดเจนและยืดหยุ่น ค้นหาจุดหรือขั้นตอนของการทำงานที่ทำให้ผลลัพธ์ผิดพลาดไม่เป็นไปตามความต้องการ มีความพยายามในการแก้ปัญหา สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่แตกต่างเพื่อให้ได้แนวทางในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย

นักเรียนนำทักษะการรวบรวม ประมวลผล นำเสนอข้อมูล ไปใช้ในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบหรือข้อสรุปของปัญหา สร้างทางเลือกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยพิจารณาข้อมูลและเงื่อนไขที่มี พิจารณาถึงผลกระทบและมีมารยาทในการให้ข้อมูลหรือการนำข้อมูลของผู้อื่นมาใช้งาน

        นักเรียนนำวิธีการค้นหาข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพไปใช้ในการค้นหาข้อมูลหรือหาคำตอบเพื่อประโยชน์ในการเรียนและการดำเนินชีวิต ประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลและแหล่งข้อมูล แยกแยะข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นก่อนนำข้อมูลไปใช้งานหรือเผยแพร่ต่อ ใช้อินเทอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีมารยาท เคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น สามารถรับมือและจัดการปัญหาหากพบการระรานทางไซเบอร์ สร้างอัตลักษณ์และร่องรอยทางดิจิทัลของตนเองอย่างเหมาะสมเพื่อการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง

        การบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ

        ภาษาไทย สามารถจัดให้นักเรียนได้ฝึกการสื่อสารจากการอธิบายอัลกอริทึมด้วยภาษาที่มีความชัดเจน ไม่กำกวม เรียบเรียงประโยคให้ผู้อื่นเข้าใจขั้นตอนการทำงานและเหตุผลของคำสั่งได้ การเขียนอีเมลตามหลักการเขียนจดหมายที่มีองค์ประกอบครบสมบูรณ์ การเรียบเรียงและสรุปประเด็นจากการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตด้วยภาษาของตนเอง การเขียนอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูล การใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารอย่างมีมารยาทผ่านช่องทางติดต่อสื่อสารต่าง ๆ การนำเสนอข้อมูลด้วยการพูด เขียน หรือสร้างงานนำเสนอเพื่อสื่อสารเรื่องราวให้น่าสนใจ

ภาษาอังกฤษ สามารถจัดให้นักเรียนรู้จักคำศัพท์ต่าง ๆ โดยใช้เมนูหรือคำสั่งต่าง ๆ ในโปรแกรมเป็นภาษาอังกฤษและเชื่อมโยงกับโปรแกรมอื่น ๆ ในกรณีที่มีการใช้คำที่ใกล้เคียงหรือแตกต่างกัน เพื่อพัฒนาเป็นคลังคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล ฝึกทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยการแปลภาษาด้วยเครื่องมือการค้นหาขั้นสูง ออกแบบบทสนทนาระหว่างตัวละคร ในการเขียนโปรแกรมที่มีเรื่องราวและการโต้ตอบ

ศิลปะ นำศิลปะมาใช้ในการออกแบบและสร้างงานนำเสนอ หรือใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ชิ้นงานมีความสวยงามและสื่อสารความคิดให้น่าสนใจ เขียนโปรแกรมสร้างงานศิลปะ เช่น ภาพวาด ภาพเคลื่อนไหว (animation) เรื่องราว และเกม ฝึกทักษะการเขียนโปรแกรมผ่านกิจกรรมศิลปะ เช่น โปรแกรมวาดภาพ pixel art โปรแกรมผสมสีน้ำ โปรแกรมวนซ้ำวาดลวดลายหรือสร้างลายเส้นให้เป็นภาพต่าง ๆ  เผยแพร่ผลงานศิลปะของตนโดยแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของ ปกป้องงานลิขสิทธิ์ของตนเอง ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น 

สุขศึกษาและพลศึกษา สามารถบูรณาการการเรียนรู้เกี่ยวกับการบอกขั้นตอนที่ชัดเจนในการทำกิจกรรม กำหนดกติกา หรือวิธีการเล่นกีฬา ด้วยการเขียนเป็นข้อความหรือผังงาน ใช้ซอฟต์แวร์บันทึกข้อมูลน้ำหนัก ส่วนสูง และข้อมูลอื่น ๆ เพื่อวิเคราะห์การเจริญเติบโตของร่างกาย

สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม สามารถจัดการเรียนรู้ในเรื่องการเป็นพลเมืองที่รู้จักปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตนเอง ยอมรับความแตกต่าง ไม่กลั่นแกล้งผู้อื่น การปกป้องตนเองจากการระรานทางไซเบอร์ และความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์เพื่อให้สามารถจัดการอัตลักษณ์ของตนเองผ่านการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม ใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น และเพื่อส่งเสริมความมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชน เช่น การสำรวจความคิดเห็น การทำโพล (poll) การสร้างตารางคำนวณค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมร่วมกัน ค้นหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เปรียบเทียบแนวคิดที่แตกต่างกัน แยกแยะข้อเท็จจริงจากข้อคิดเห็น เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง การแสดงความคิดเห็นที่สร้างสรรค์และสมเหตุสมผล ต่อประเด็นทางสังคมและชุมชน

การจัดการในครัวเรือนและการประกอบการ สามารถบูรณาการความรู้ในการวางแผนการทำงาน และจัดการงานต่าง ๆ อย่างเป็นลำดับขั้นตอนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการและใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีอย่างรู้คุณค่าและพอเพียง ใช้ซอฟต์แวร์ในการคำนวณต้นทุน ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และประมวลผลข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการขายสินค้าและบริการโดยไม่ขาดทุน ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำโฆษณา โบรชัวร์ ป้ายโฆษณาสินค้า

คณิตศาสตร์/วิทยาศาสตร์และระบบธรรมชาติ สามารถใช้ซอฟต์แวร์ช่วยในการประมวลผลข้อมูล นำเสนอข้อมูล นำความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์มาสร้างของเล่น สิ่งของเครื่องใช้ที่มีการใช้แม่เหล็ก ไฟฟ้า หรือกลไกต่าง ๆ ตามความสนใจหรือเพื่อแก้ปัญหาจากสถานการณ์ที่พบ เขียนโปรแกรมจำลองปรากฏการณ์ธรรมชาติให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น วัฏจักรน้ำ การโคจรของดาวเคราะห์ การเกิดกลางวัน-กลางคืน สุริยุปราคา จันทรุปราคา  ใช้โปรแกรมตารางทำงานในการคำนวณและสร้างกราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์ สร้างความคุ้นเคยกับพิกัด มุม และมุมภายในของรูปหลายเหลี่ยมด้วยการเขียนโปรแกรมให้ตัวละครเคลื่อนที่และวาดภาพเรขาคณิต จำลองการเคลื่อนที่ในแนวเส้นตรงด้วยการเขียนโปรแกรมภาพเคลื่อนไหว เขียนโปรแกรมคำนวณอย่างง่ายโดยรับข้อมูลนำเข้า และใช้สูตรคำนวณต่าง ๆ เช่น การทอนเงิน การลดราคาสินค้า ดอกเบี้ยทบต้น ปริมาตร และมวล

บูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลกับทุกสาระการเรียนรู้ สามารถนำแนวคิดในการวิเคราะห์ วางแผน  ออกแบบอัลกอริทึมหรือขั้นตอนการแก้ปัญหา และการค้นหาวิธีการต่าง ๆ ไปใช้ในการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ความรู้และเทคนิคเกี่ยวกับการค้นหาข้อมูลในการหาคำตอบที่สงสัยหรือเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่ต้องการ ประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลและแหล่งข้อมูล อ้างอิงแหล่งข้อมูลที่นำมาใช้งาน ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการคิดเพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างชิ้นงานตามวัตถุประสงค์ ใช้ซอฟต์แวร์ในการจัดการงานหรือทำงานร่วมกับผู้อื่น

ผลลัพธ์การเรียนรู้เมื่อจบช่วงชั้นที่ 2

  1. ใช้เหตุผลเชิงตรรกะในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันหรือสถานการณ์จำลอง หาวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลายที่เป็นไปได้ แสดงวิธีการแก้ปัญหาโดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของเหตุและผลด้วยข้อความหรือแผนภาพ อธิบายเหตุผลของการตัดสินใจหรือการลงข้อสรุป มีความพยายามและกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาอย่างอย่างมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ
  2. วิเคราะห์ปัจจัยในสถานการณ์ วางแผน ออกแบบและเขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ตรวจหาข้อผิดพลาดของโปรแกรม เรียนรู้จากความผิดพลาด สะท้อนการทำงานของตนเอง ร่วมกันทำงานเป็นทีมเพื่อปรับปรุงแก้ไขผลลัพธ์ให้ดีขึ้น
  3. ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการออกแบบการบันทึกข้อมูล รวบรวมข้อมูลที่สอดคล้องกับวิธีการ จัดเก็บ จัดเตรียม ประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลและลงข้อสรุป เพื่อการแก้ปัญหาหรือตัดสินใจ นำเสนอข้อมูลโดยเลือกใช้วิธีการสื่อสารที่เหมาะสม ตระหนักถึงคุณค่าและข้อจำกัดของข้อมูล
  4. ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการค้นหาข้อมูล ติดต่อสื่อสาร เพื่อทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รับฟัง อ่านเรื่อง หรือดูภาพที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์อย่างมีสติ จับประเด็นสำคัญทั้งเชิงบวกและลบ ไม่ตัดสินผู้อื่นโดยใช้อคติ ประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลและแหล่งข้อมูล เคารพในความคิดเห็นที่หลากหลาย   มีมารยาทและจริยธรรมในการสื่อสาร และปกป้องตนเองจากการระรานทางไซเบอร์ รักษาอัตลักษณ์และร่องรอยทางดิจิทัลอย่างเหมาะสมและปลอดภัย
  5. พัฒนาชิ้นงานเพื่อแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และนำไปใช้จริง โดยร่วมกันทำงานเป็นทีมในการวิเคราะห์และรวบรวมปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ ระบุปัญหา วางแผนแก้ปัญหา เลือกใช้เทคโนโลยี โดยตอบสนองความต้องการหรือสภาพปัญหาในบริบทได้อย่างคุ้มค่า ตรวจสอบผลและปรับปรุงแก้ไข สะท้อนผลที่มีต่อตนเองและผู้อื่นหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น

แนวทางการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ สาระการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ช่วงชั้นที่ 2 คลิกที่นี่

ดาวน์โหลด สาระการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ช่วงชั้นที่ 2

รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก : https://cbethailand.com/

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่