ดูที่นี่ ไขข้อสงสัย คำถาม-คำตอบ การจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ดูที่นี่ ไขข้อสงสัย คำถาม-คำตอบ การจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ดูที่นี่ ไขข้อสงสัย คำถาม-คำตอบ การจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน

  • สามารถดาวน์โหลดตารางสอนของระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ได้อย่างไร

สามารถดาวน์โหลดตารางสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ได้ที่ https://www.dltv.ac.th/content/content-detail/10538/1001

  • เริ่มเรียนวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 แล้วในช่วงเปิดเรียน 1 กรกฎาคม 2563 จะเรียนต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไร

เทปการสอนจะนำเสนอต่อเนื่อง ในช่วงเปิดเรียนต้นเดือนกรกฎาคม ครูจะตรวจสอบทั้งด้านระบบว่านักเรียนได้เรียนครบถ้วนตามสาระหรือทั่วถึงทุกคนหรือไม่ หากไม่ทั่วถึงหรือไม่ครบถ้วน หรือมีเรื่องใดไม่เข้าใจ ครูจะทบทวน สอนเพิ่ม สอนใหม่ หรือมอบหมายงานเพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนเรียนรู้ได้บรรลุตัวชี้วัดดังกล่าวครบถ้วน

สำหรับการนำช่วงก่อนวันที่ 1 กรกฎาคมมานับเป็นเวลาเรียนหรือไม่นั้น สพฐ. จะแจ้งแนวปฏิบัติอย่างเป็นทางการให้ทราบต่อไป

  • ใบงานของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 มีหรือไม่ ดาวน์โหลดได้ที่ไหน

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ครูประจำวิชาเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ โดยสามารถเชื่อมโยงกับเนื้อหาสาระการสอนทางไกล สำหรับใบงานขอให้ครูออกแบบตามกิจกรรมการเรียนรู้ไปพลางก่อน

  • การเข้าเรียนออนไลน์ และการเรียนผ่านโทรทัศน์แตกต่างกันหรือไม่

การเรียนออนไลน์กับการเรียนผ่านโทรทัศน์ไม่แตกต่างกัน แต่เพิ่มช่องทางการเข้าถึงให้มากขึ้นเพื่อความเหมาะสมตามความพร้อมของผู้ปกครองและนักเรียน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมการเรียนรู้ ได้แก่ การติดตาม และส่งเสริมการเรียนรู้ของสถานศึกษา ผู้บริหาร และคุณครู การส่งเสริมการเรียนของบุตรหลานจากผู้ปกครอง และวินัยในตนเองของผู้เรียน ซึ่งส่วนสำคัญที่สุดที่ส่งเสริมการเรียนรู้ได้ดีคือการติดต่อสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอของของสถานศึกษาและผู้ปกครองเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน

  • แผนการจัดการเรียนรู้ และสื่อการสอน ม.ปลาย สามารถดาวน์โหลดได้ที่ไหน

ยังไม่สามารถดาวโหลดได้ เนื่องจากเป็นการสอนที่เน้นภาคทฤษฎี จึงขอให้ครูประจำวิชาเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ และใบงานโดยสามารถเชื่อมโยงกับเนื้อหาสาระการสอนทางไกล

  • ในสถานการณ์นี้ครูต้องตรวจสอบหรือประเมินเรื่องใดบ้าง

ในช่วงตรวจสอบความพร้อมการจัดการเรียนการสอนทางไกล (18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563) ครูดำเนินการตรวจสอบเพื่อวัตถุประสงค์ 2 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อทดสอบระบบดูว่าขัดข้องอย่างไร 2) เพื่อตรวจสอบผู้เรียนว่าได้มีการเรียนรู้ที่ทั่วถึง ครบถ้วน ตกหล่น หรือขาดในส่วนใด เพื่อการวางแนวทางการสอน การทบทวน การซ่อมเสริมและการพัฒนาต่อไป ในช่วงเปิดเรียนต้นเดือนกรกฎาคม โดย สพฐ. จะแจ้งแนวปฏิบัติอย่างเป็นทางการให้ทราบต่อไป

  • กิจกรรมลูกเสือเนตรนารี ชุมนุม จะทำอย่างไร

กิจกรรมที่รวมกลุ่มกันให้งดเว้นไว้ก่อนตาม พรก. ฉุกเฉิน แล้วจึงกลับมาจัดการเรียนการสอนตามปกติเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย อย่างไรก็ตาม กิจกรรมสาธารณประโยชน์ครูสามารถมอบหมายงานให้นักเรียนทำได้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ

  • สื่อการเรียนการสอน ม.ปลาย สามารถดาวน์โหลดได้ที่ไหน

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ครูประจำวิชาเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ โดยสามารถเชื่อมโยงกับเนื้อหาสาระการสอนทางไกล ในส่วนของใบงานขอให้ครูจัดทำไปพลางก่อน

  • การนับภาระงานเพื่อประกอบวิทยฐานะมีแนวปฏิบัติอย่างไร

สพฐ. อยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อตกลงกับ ก.ค.ศ. ซึ่งรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

  • ทำไมต้องออนไลน์ ทำไมไม่เรียนแบบปกติ

กระทรวงศึกษาธิการไม่มีเจตนาที่จะจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แต่เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับกรณีที่สถานการณ์ยังไม่ปกติและไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตามปกต

  • กรณีเด็กเล็ก เช่นเด็กอนุบาล หรือประถม ซึ่งไม่เหมาะกับการนั่งหน้าจอ ทำแบบนี้จะได้ผลหรือไม่

สำหรับเด็กเล็ก กระทรวงมีนโยบายให้เยี่ยมเยียนเด็กบ่อย ๆ และกำชับให้โรงเรียนดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อติดตามพัฒนาการและรับทราบปัญหาที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งร่วมกันแก้ปัญหาการเรียนรู้อย่างทันท่วงที

  • การเรียนรู้แบบนี้จะได้ผลหรือไม่ การวัดประเมินผลต้องทำอย่างไร

สพฐ. ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายใช้การจัดการเรียนรู้แบบนี้เพื่อทดแทนการจัดการเรียนรู้ปกติ แต่ทำเพื่อรองรับความเสี่ยงกรณีที่อาจเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้อยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของสถานศึกษา และครู รวมทั้งการวัดประเมินผลไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการตัดสินผู้เรียน แต่เพื่อให้ครูทราบข้อมูลว่าต้องพัฒนาหรือซ่อมเสริมเติมเต็มให้กับนักเรียนคนใดต่อไป

  • ตารางเรียนเป็นอย่างไร สามารถดูช่องทีวีได้จากไหน

สามารถดาวน์โหลดตารางสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ได้ที่ https://www.dltv.ac.th/content/content-detail/10538/1001 และสามารถดูช่องรายการตามระบบที่ออกอากาศได้ตามลิ้งค์นี้ครับ https://www.dltv.ac.th/content/content-detail/10537/1001 แต่หากเป็นเคเบิ้ลทีวีของท้องถิ่น ให้ติดต่อสถานีเคเบิ้ลเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมครับ

  • ทำไมไม่เรียนแบบปกติ แล้วถ้ามีลูกหลายคนจะทำอย่างไร

สพฐ. ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายใช้การจัดการเรียนรู้แบบนี้เพื่อทดแทนการจัดการเรียนรู้ปกติ แต่สพฐ. ทำเพื่อรองรับความเสี่ยงกรณีที่อาจเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้อยู่ภายใต้ดูแลอย่างใกล้ชิดของสถานศึกษา และครู การออกอากาศจะออกอากาศซ้ำวันละ 3 รอบ ตามตารางเรียนในเว็บ https://www.dltv.ac.th/content/content-detail/10538/1001 ในกรณีที่มีบุตรหลานหลายคนสามารถสลับกันเรียนได้ เช่น เช้าน้องเรียน บ่ายพี่เรียน เป็นต้น

  • ถ้าไม่มีอะไรเลยทั้งโทรทัศน์ โทรศัพท์ ต้องทำอย่างไร

สพฐ. สั่งการให้เขตพื้นที่ กับโรงเรียน ดำเนินการสำรวจ และวางแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับผู้ปกครอง โดยขอให้รายงานมายังโรงเรียนที่บุตรหลานเรียนเพื่อที่จะดำเนินการช่วยเหลืออย่างถูกต้องต่อไป เช่นการจัดหา หรือการให้ยืมอุปกรณ์ตามความจำเป็น เป็นต้น

การวัดและประเมินผล

  • การเรียนการสอนแบบไม่มีปฏิสัมพันธ์ จะทำให้ได้คุณภาพและจะประเมินผลอย่างไร

ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) สถานศึกษาได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลที่สอดคล้องกับหลักสูตร ฯ และสภาวะของสถานการณ์แต่ละเขตพื้นที่ ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนครูผู้สอนจะจัดทำสื่อการเรียนการสอน และเครื่องมือประเมินในรูปแบบที่หลากหลายผสมผสานกัน เช่น ใบงาน ใบกิจกรรม แบบฝึก การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจผลงาน การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินโดยใช้แฟ้มผลงาน และการทดสอบ เป็นต้น เพื่อประเมินพัฒนาการและความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของผู้เรียนระหว่างการเรียนในแต่ละวัน และมีการไปตรวจเยี่ยมที่บ้านในน้อยกว่า 1 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ หรือจัดทำตารางนัดหมายผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อทำกิจกรรมการเรียนการสอนควบคู่กับการวัดและประเมินผล ทั้งที่สถานศึกษาและที่บ้านนักเรียน เพื่อตรวจสอบและประเมินความสามารถของนักเรียน และต้องขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการต่าง ๆ

ดังนั้น ถึงแม้ว่าครูผู้สอนอาจจะมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนน้อยลงระหว่างการเรียนการสอน แต่ครูผู้สอนก็ยังมีติดตาม ตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ และประเมินพัฒนาการหรือผลการเรียนรู้ของนักเรียน ทำให้ครูผู้สอนมีข้อมูลในการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ

  • เป็นการสอนรอโรงเรียนเปิดเทอมใช่ไหม ไม่ได้เอาไปวัดผลการเรียนใช่หรือไม่

กระทรวงศึกษาธิการจัดให้มีทดลองการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลในระดับชั้นต่าง ๆ และกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้ครูผู้สอนมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียน และติดตามเนื้อหา หรือกิจกรรม ณ ขณะนั้น ๆ ในระหว่างทำการสอนผ่านระบบนี้ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ นักเรียนได้มีโอกาสเตรียมตัว และซักซ้อมเนื้อหาของกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ต้องเรียนก่อนเปิดภาคเรียน และการวัดและประเมินผลการเรียนที่เกิดขึ้นในช่วงที่เรียนผ่านการทดลองระบบนี้ จึงไม่ใช่เป็นการวัดผลประเมินผลเพื่อการตัดสินผลการเรียน แต่เป็นการตรวจสอบนักเรียนว่ามีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนอยู่หรือไม่ เพื่อให้ได้ข้อมูลในการปรับปรุงการเรียนการสอน และเป็นการปรับพื้นฐานของนักเรียน ดังนั้น ทั้งผู้เรียนและผู้ปกครองไม่ต้องกังวล หรือเครียดใด ๆ ขอให้สนับสนุนให้บุตรหลานของท่านเข้าเรียนผ่านระบบตามที่โรงเรียน หรือครูผู้สอนได้กำหนด เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนก่อนเปิดภาคเรียนต่อไป

  • การเรียนถ้ามีการเก็บคะแนนจริง เด็กเล็กเช่น ป.1 เชื่อว่าเขาคงไม่สามารถดูทีวีได้ตลอด ส่วนผู้ปกครองก็ต้องมีภาระที่ต้องทำไม่สามารถจะมานั่งคุมเด็กได้แล้วเด็กจะเรียนรู้เรื่องไหมคะ ผู้ปกครองควรทำอย่างไร

1. การวัดและประเมินผลนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น สำหรับผู้ปกครองที่มีเวลา

การประเมินนักเรียนระดับนี้เป็นการตรวจสอบความรู้ความสามารถ ทักษะ และคุณลักษณะของผู้เรียน โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจผลงาน การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน และการทดสอบที่เหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละช่วงวัย เป็นต้น ซึ่งครูผู้สอนและผู้ปกครองจะต้องร่วมมือกันในการประเมินผู้เรียนและส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนร่วมกันโดยครูจะจัดทำเครื่องมือวัดและประเมินผลให้ผู้เรียนและผู้ปกครองเป็นผู้ส่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น การบ้าน รวมถึงผลการประเมินของนักเรียนให้ครูผู้สอน นอกจากการพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับแล้ว ครูมีการตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียนเพื่อตอบข้อสงสัยของนักเรียนที่เกี่ยวกับบทเรียนและตรวจสอบและประเมินความสามารถของนักเรียนด้วย พร้อมกันนี้ ครูอาจจะมีการนัดหมายผู้เรียนเป็นกลุ่มเพื่อประเมินผลการทำกิจกรรมร่วมกัน

2. การวัดและประเมินผลนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น สำหรับผู้ปกครองที่ไม่มีเวลา

ในการจัดการเรียนการสอนทางไกล นอกจากครูแล้ว ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนและติดตามพัฒนาการและผลการเรียนรู้ของนักเรียน ดังนั้น จึงต้องขอความร่วมมือจากผู้ปกครอง แต่เนื่องจากเด็กเล็กมีช่วงความสนใจที่จำกัดและในบางครั้งผู้ปกครองอาจจะมีภารกิจอื่น ๆ จึงทำให้ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือนักเรียนในช่วงการสอนสดได้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้คำนึงถึงปัญหาดังกล่าว จึงจัดให้มีการออกอากาศโปรแกรมซ้ำเป็นเวลาอื่น ๆ นอกตารางการเรียนการสอนที่ออกอากาศปกติ หรือสามารถดาวน์โหลดบทเรียนได้ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนย้อนหลังได้ โดยการดูโปรแกรมที่บันทึกไว้ และสามารถใช้ที่ผู้ปกครองเสร็จภารกิจได้

  • ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม–30 มิถุนายน 2563 ครูสามารถสั่งงานและเก็บคะแนนนักเรียนได้หรือไม่เพราะมีหลายโรงเรียนมากที่ครูสั่งงานเก็บคะแนนนักเรียนตั้งแต่ยังไม่ได้เรียนออนไลน์ด้วยซ้ำและบางโรงเรียนยังมีการเช็คชื่อการเข้าเรียนออนไลน์ ถ้านักเรียนเข้าเรียนไม่ทัน ก็จะมีการหักคะแนนนักเรียน เลยอยากทราบว่าตั้งแต่วันเวลาข้างต้น ครูสามารถเก็บคะแนนนักเรียนได้หรือไม่

ช่วงตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ทางกระทรวงศึกษาธิการจัดให้มีการทดลองถ่ายทอดสัญญาณสำหรับเรียนการสอน ผ่านระบบการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสเตรียมตัว และซักซ้อมเนื้อหาที่ต้องเรียนการจัดการเรียนการสอนในกรณีที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียนเพื่อร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนได้ตามปกติ ดังนั้น การวัดหรือการประเมินที่เกิดขึ้นในช่วงที่ทดลองระบบการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลนี้ จึงไม่ใช่เป็นการตัดสินผลการเรียน

กรณี ครูสั่งเก็บคะแนน สั่งงาน เช็คชื่อ หรือการหักคะแนน ครูสามารถทำได้ แต่ปริมาณงานที่สั่งต้องเหมาะสมตามระดับชั้นของนักเรียน ถือว่าเป็นการเตรียมความพร้อม ปรับพื้นฐาน ตรวจสอบนักเรียนว่ามีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน และติดตามเนื้อหา หรือกิจกรรม ณ ขณะนั้น ๆ อยู่หรือไม่ อีกทั้งเป็นการเตรียมการให้นักเรียนได้มีโอกาสทราบเนื้อหาของกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น ๆ เมื่อต้องเรียนจริง ๆ ตามระบบปกติต่อไป สำหรับการเก็บคะแนนนักเรียนเพื่อตัดสินผมการเรียนนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

  • การวัดและประเมินผลในแต่ละระดับชั้นในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ควรทำอย่างไร

1. การวัดและประเมินผลในระดับปฐมวัย เป็นการประเมินที่มุ่งเน้นตรวจสอบพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับการจัดการเรียนให้กับเด็กในระดับการศึกษานี้ ยังไม่มุ่งเน้นการอ่านและการเขียนเป็นหลัก ดังนั้น การวัดและประเมินผลสำหรับเด็กปฐมวัย ควรดำเนินการดังต่อไปนี้

1.1 การวัดและประเมินผลเด็ก ใช้วิธีการสังเกตพฤติกรรม การพูดคุย การซักถาม การตรวจสอบชิ้นงาน เป็นต้น ครูผู้สอนจำเป็นต้องจัดทำแบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบตรวจสอบรายการ และแบบประเมินพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของผู้เรียน

1.2 มีการประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินพัฒนาการของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง

1.3 ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในการจัดส่งข้อมูลสารสนเทศผลการประเมินพัฒนาการหรือพฤติกรรมของผู้เรียนย้อนกลับให้ครูผู้สอนผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ

1.4 สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของเด็ก เพื่อประเมินและตรวจสอบพัฒนาการของเด็กได้อีกด้วย

2. การวัดและประเมินผลในระดับประถมศึกษา เป็นการประเมินที่มุ่งเน้นตรวจสอบความรู้ความสามารถ ทักษะและคุณลักษณะของผู้เรียน ตามมาตรฐานและตัวชี้วัดในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 การจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนในระดับการศึกษานี้ จึงมุ่งเน้นให้มีความรู้ความสามารถทั้งด้านความรู้ ความคิด ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถทั้งด้านการอ่าน การเขียน และการสื่อสารด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนั้น การวัดและประเมินผลสำหรับเด็กระดับประถมศึกษา ควรดำเนินการดังต่อไปนี้

2.1 การวัดและประเมินผลผู้เรียน ใช้วิธีการและรูปแบบที่หลากหลายผสมผสานกันไป เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจผลงาน การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน และการทดสอบ เป็นต้น

2.2 ครูผู้สอนจัดทำเครื่องมือวัดและประเมินผลให้ผู้เรียนเป็นผู้ส่งข้อมูลสารสนเทศผลการประเมินย้อนกลับให้ครูผู้สอน

2.3 ประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผู้เรียน

2.4 สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียน เพื่อตรวจสอบและประเมินความสามารถของผู้เรียน

2.5 มีการจัดทำตารางนัดหมายผู้เรียนเป็นกลุ่มเพื่อประเมินผลการทำกิจกรรมร่วมกัน

2.6 มีการใช้แบบทดสอบรูปแบบต่าง ๆ ในการวัดและประเมินผู้เรียนตามความเหมาะในแต่ละระดับชั้น

3. การวัดและประเมินผลในระดับมัธยมศึกษา เป็นการประเมินที่มุ่งเน้นตรวจสอบความรู้ความสามารถ ทักษะและคุณลักษณะของผู้เรียน ตามมาตรฐานและตัวชี้วัดในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 การจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนในระดับการศึกษานี้ จึงมุ่งเน้นให้มีความรู้ความสามารถทั้งด้านความรู้ ความคิด ทักษะกระบวนการ และคุณลักษณะ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถทั้งด้านการอ่าน การเขียน และการสื่อสารด้วยวิธีการต่าง ๆ รวมทั้งผู้เรียนยังมีความสามารถในด้านการใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างดี ดังนั้น การวัดและประเมินผลสำหรับเด็กระดับมัธยมศึกษา ควรดำเนินการดังต่อไปนี้

3.1 การวัดและประเมินผลผู้เรียน ใช้วิธีการและรูปแบบที่หลากหลายผสมผสานกันไป เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจผลงาน การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน และการทดสอบ

3.2 อาจมีทั้งการทดสอบโดยใช้ข้อสอบและกระดาษคำตอบ การทดสอบโดยใช้ระบบการสอบออนไลน์ การทดสอบโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เป็นต้น

3.3 มีการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สำหรับการบริหารจัดการทดสอบและประเมินผู้เรียน ดังนั้นในการวัดและประเมินผล ครูผู้สอนสามารถจัดระบบให้ผู้เรียนสามารถส่งข้อมูลสารสนเทศผลการประเมินย้อนกลับได้ด้วยตนเองไปให้ครูผู้สอน โดยใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) หรือช่องทางการสื่อสารอื่น ๆ

3.4 ประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผู้เรียน

3.5 สามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียนเพื่อประเมินและตรวจสอบความรู้ความสามารถของผู้เรียน

3.6 จัดทำตารางนัดหมายผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อทำกิจกรรมการเรียนการสอนควบคู่กับการวัดและประเมินผล ทั้งที่สถานศึกษาและที่บ้านนักเรียน

  • การวัดและประเมินผลพฤติกรรมด้านความรู้ ด้านทักษะกระบวนการ และด้านคุณลักษณะของผู้เรียนควรทำอย่างไร ในเมื่อนักเรียนเรียนรู้อยู่ที่บ้าน

การวัดและประเมินผลตามพฤติกรรมของมาตรฐานและตัวชี้วัด ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 แต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีลักษณะพฤติกรรมที่แสดงออก 3 ด้าน คือ ด้านความรู้ (Knowledge) ด้านทักษะกระบวนการ (Process skill) และด้านคุณลักษณะ (Attribute) การวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียน กำหนดรูปแบบวิธีการให้เหมาะสมกับพฤติกรรมที่ต้องการวัด ดังนี้

1. ด้านความรู้ (Knowledge) การวัดและประเมินผลใช้การทดสอบเป็นหลัก ซึ่งข้อสอบที่ใช้ในการทดสอบมีทั้งข้อสอบแบบเลือกตอบและข้อสอบแบบเขียนตอบ ครูผู้สอนควรใช้วิธีการทดสอบที่หลากหลาย ได้แก่ การใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ทั้งรูปแบบออนไลน์และรูปแบบที่ไม่ได้เชื่อมต่อในคอมพิวเตอร์เครือข่าย (ออฟไลน์) โดยให้ผู้เรียนสอบที่บ้าน มีการมอบหมายงาน นัดหมายเป็นกลุ่ม สำหรับการใช้ข้อสอบแบบเลือกตอบ ครูผู้สอนควรจัดทำชุดข้อสอบตามมาตรฐานและตัวชี้วัด และมีการนัดหมายช่วงเวลาในการทดสอบกับผู้เรียนล่วงหน้า ส่วนข้อสอบแบบเขียนตอบ ครูผู้สอนควรกำหนดให้ผู้เรียนเขียนคำตอบลงในกระดาษคำตอบแล้วจัดส่งข้อมูลการทำข้อสอบมาให้ครูผู้สอนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ นอกจากนี้ ครูผู้สอนสามารถวัดพฤติกรรมด้านความรู้ของผู้เรียนผ่านการทำรายงานที่สะท้อนถึงพฤติกรรมตามตัวชี้วัดจัดส่งรายงานย้อนกลับมายังครูผู้สอนผ่านระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้อีกด้วย

2. ด้านทักษะกระบวนการ (Process skill) การวัดและประเมินผลใช้การประเมินภาคปฏิบัติเป็นหลัก เน้นการประเมินตามสภาพจริงที่บ้าน ใช้แบบประเมินการปฏิบัติงาน แบบตรวจสอบรายการ แบบบันทึกผลงาน และแบบบรรยายการปฏิบัติงาน เป็นต้น วิธีการจัดส่งงานสามารถใช้การถ่ายวีดิทัศน์ การถ่ายรูปภาพผลงาน การบันทึกเสียง โดยประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินทักษะกระบวนการของผู้เรียน ครูผู้สอนสามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียนเพื่อประเมินและตรวจสอบความสามารถด้านทักษะและการปฏิบัติงานของผู้เรียน อีกทั้งสามารถมอบหมายงานเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ให้ปฏิบัติงานทั้งที่บ้านหรือสถานศึกษา เพื่อครูผู้สอนจะได้ทำการประเมินทักษะการปฏิบัติงานของผู้เรียนได้

3. ด้านคุณลักษณะ (Attribute) การวัดและประเมินผลใช้การสังเกตและตรวจสอบพฤติกรรมเป็นหลัก เครื่องมือวัดและประเมินผู้เรียนมีหลากหลายประเภท เช่น แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบตรวจสอบรายการ และแบบประเมินตนเอง เป็นต้น โดยครูผู้สอนควรประสานขอความร่วมมือกับผู้ปกครองในการประเมินพฤติกรรมของผู้เรียนผ่านการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรมที่บ้าน การมอบหมายให้ปฏิบัติงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ครูผู้สอนสามารถไปตรวจเยี่ยมบ้านของผู้เรียนเพื่อประเมินและตรวจสอบคุณลักษณะของผู้เรียน มีการมอบหมายงานให้ผู้เรียนปฏิบัติงานนัดหมายร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อครูผู้สอนจะได้สังเกตพฤติกรรมและตรวจสอบคุณลักษณะของผู้เรียน

  • การวัดและประเมินผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนา(Formative Assessment)และการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียน(Summative Assessment) ควรทำอย่างไร ในเมื่อนักเรียนเรียนรู้อยู่ที่บ้าน

การวัดและประเมินผลผู้เรียนมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ 1) การวัดและประเมินผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนา (Formative Assessment) และ 2) การวัดและประเมินผลเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ (Summative Assessment) ดังนั้น ครูผู้สอนควรกำหนดรูปแบบและแนวทางในการวัดและประเมินผลในแต่ละจุดมุ่งหมาย ดังนี้

1. การวัดและประเมินผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนา (Formative Assessment) เป็นการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอนตลอดปีการศึกษา/ภาคเรียน ครูผู้สอนจำเป็นต้องออกแบบและวางแผนเกี่ยวกับวิธีการและเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผลตามมาตรฐานและตัวชี้วัดในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยใช้วิธีการประเมินผลที่หลากหลาย เช่น การทดสอบ การสังเกตพฤติกรรม การสอบปากเปล่า การสัมภาษณ์หรือการซักถาม การเขียนสะท้อนการเรียนรู้ การประเมินภาคปฏิบัติ การประเมินด้วยแฟ้มสะสมงาน การประเมินตนเอง การประเมินตามสภาพจริง เป็นต้น โดยครูผู้สอนจำเป็นต้องวัดและประเมินผลผู้เรียนในแต่ละช่วงเวลาของการจัดการเรียนรู้ พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลผลการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง มีการประสานขอความร่วมมือจากผู้ปกครองให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผลและสะท้อนผลการเรียนรู้ (Feedback) กลับไปยังครูผู้สอนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ควรจัดทำแนวทางการพัฒนาตนเองของผู้เรียน มีการนำเสนอองค์ความรู้ที่ได้หรือแหล่งข้อมูลในการพัฒนาตนเองของผู้เรียน เพื่อมอบหมายให้นักเรียนปฏิบัติงาน แล้วจัดส่งข้อมูลผลการประเมินย้อนกลับไปให้ครูผู้สอนผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ

2. การวัดและประเมินผลเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ (Summative Assessment) เป็นการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนหลังสิ้นสุดปีการศึกษา/ภาคเรียน โดยครูผู้สอนควรกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดสำคัญที่ผู้เรียนจำเป็นต้องรู้และสามารถสะท้อนคุณภาพผู้เรียนตลอดปีการศึกษา/ภาคเรียน การทดสอบควรใช้วิธีการหรือรูปแบบการทดสอบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับจำนวนและลักษณะธรรมชาติของผู้เรียน เช่น การใช้โปรแกรมทดสอบสำเร็จรูปในการทดสอบแบบออนไลน์ที่สะดวกและง่ายต่อการเข้าถึง การจัดทำชุดข้อสอบตามมาตรฐานและตัวชี้วัดแล้วนัดหมายช่วงเวลาในการทดสอบกับผู้เรียนล่วงหน้า การนัดหมายผู้เรียนมาสอบเป็นกลุ่มย่อย ๆ การจัดส่งข้อสอบให้ผู้เรียนทำที่บ้านแล้วจัดส่งกลับคืนครูผู้สอนผ่านช่างทางการสื่อสารต่าง ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ ครูผู้สอนสามารถเลือกใช้ข้อสอบมาตรฐานที่มีการให้บริการจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ระบบคลังข้อสอบมาตรฐาน (SIBS) ระบบคลังข้อสอบตามแนวทางการทดสอบ PISA (PISA Online Testing) ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพัฒนาขึ้น ทั้งในการวัดและประเมินผลเพื่อปรับปรุงและพัฒนาและการวัดและประเมินผลเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ได้อีกด้วย

  • การตัดสินผลการเรียนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ควรทำอย่างไร ในเมื่อนักเรียนเรียนรู้จากการเรียนการสอนด้วยด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล

การตัดสินผลการเรียนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ให้ยึดตามแนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2561 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดขึ้น โดยการตัดสินผลการเรียนใช้ผลการประเมินระหว่างปี/ภาคเรียน และผลการประเมินภายปี/ภาคเรียน ตามสัดส่วนที่สถานศึกษากำหนด

ขอบคุณที่มา : ศูนย์เฉพาะกิจการจัดการศึกษาทางไกลในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่