ความรู้ และ คู่มือการสอน อ่าน เขียน โดยการ แจกลูกสะกดคําตามหลักภาษา โดย สพฐ.
ความรู้ และ คู่มือการสอน อ่าน เขียน โดยการ แจกลูกสะกดคําตามหลักภาษา โดย สพฐ.

ดาวน์โหลด คู่มือการสอนอ่านเขียน โดยการแจกลูกสะกดคำ ตามหลักภาษา โดย สพฐ.

แจกไฟล์ คู่มือการสอนอ่านเขียน โดยการแจกลูกสะกดคำ ตามหลักภาษา จัดทำโดยโดย สพฐ. คู่มือการแจกลูกสะกดคำ ป. 1 ตัวอย่าง การแจกลูกคำ พร้อม แบบฝึก สะกดคำ และ แจกลูก ใบงานการแจกลูกสะกดคำ ป. 1 แบบฝึก การเขียนแจกลูกสะกด คํา ป. 2 ดาวน์โหลดฟรี ในลิงก์ด้านล่าง

เอกสารคู่มือการสอน อ่าน เขียน โดยการแจกลูกสะกดคำ ฉบับนี้ เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้สำหรับครูผู้สอนภาษาไทย ในการแก้ปัญหานักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ด้วยวิธีการสอนแบบแจกลูกสะกดคำ ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นวิธีการสอนที่สร้าง ความเข้าใจทางภาษาไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพในการทำให้ผู้เรียนอ่านออกเขียนได้

การจัดทำ“คู่มือการสอนอ่านเขียน โดยการแจกลูกสะกดคำ” จัดทำขึ้นโดยคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ทางด้านการสอนภาษาไทย ด้านการวัดและประเมินผลจากสถาบันอุดมศึกษา ศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบภาษาไทย ครูผู้สอนภาษาไทย และนักวิชาการศึกษา ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย และการวัดและประเมินผล ซึ่งครูผู้สอนหรือผู้ที่สนใจสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาวิชาชีพหรือพัฒนาตนเองในด้านการสอนอ่านเขียนภาษาไทย โดยใช้เป็นแนวทางการสอนอ่านเขียนภาษาไทยแก่นักเรียน ในวัยเริ่มเรียน และซ่อมเสริมนักเรียนที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ โดยสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเองได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างไฟล์

ดาวน์โหลด คู่มือการสอนอ่านเขียน โดยการแจกลูกสะกดคำ ตามหลักภาษา โดย สพฐ.
ดาวน์โหลด คู่มือการสอนอ่านเขียน โดยการแจกลูกสะกดคำ ตามหลักภาษา โดย สพฐ.

ความรู้เรื่อง การสอนอ่านแบบแจกลูกสะกดคำตามหลักภาษา

เนื่องจากตอนนี้ เรื่องการสะกดคำที่เป็นประเด็นในเวลานี้นั้นไม่คุ้นอย่างที่เราเคยร่ำเรียนมา และมีหลายท่านแสดงความเป็นห่วงว่าจะทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่คล่องหรืออ่านไม่ออก วันนี้ขอนำความรู้เรื่องการอ่านแบบแจกลูกสะกดคำ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานตามหลักวิชาการภาษาไทยมาบอกกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่าน รวมทั้งเพื่อนำไปสอนนักเรียนหรือสอนบุตรหลานให้เข้าใจวิธีการอ่านแบบแจกลูกสะกดคำที่ถูกต้องต่อไป

การอ่านแจกลูกและสะกดคำ คือ กระบวนการขั้นพื้นฐานของการนำ เสียงพยัญชนะต้น สระ วรรณยุกต์ และเสียงตัวสะกดมาประสมเสียงกัน ทำให้ออกเสียงคำต่างๆ ที่มีความหมาย ในภาษาไทย การแจกลูกและการสะกดคำบางครั้งเรียกรวมกันว่า “การแจกลูกสะกดคำ” เพราะในการสอน แจกลูกสะกดคำจะดำเนินไปด้วยกันอย่างกลมกลืน เพื่อให้นักเรียนได้หลักเกณฑ์ทางภาษาทั้งการอ่าน และการเขียนไปพร้อมกัน

การแจกลูก

“การแจกลูก” หมายถึง การเทียบเสียง เริ่มต้นจากการสอนให้จำและออกเสียงคำ แล้วนำรูปคำซึ่งเปรียบเสมือนแม่มากระจายหรือแจกลูก โดยการเปลี่ยนสระ หรือเปลี่ยนพยัญชนะต้น หรือเปลี่ยนพยัญชนะท้าย (ตัวสะกด) มีวิธีการดังนี้
๑. ยึดพยัญชนะต้นเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนรูปสระ เช่น
กะ กา กิ กี กึ กื กุ กู
๒. ยึดสระเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนพยัญชนะต้น เช่น
กา ขา คา งา ตา นา ทา วา
๓. ยึดสระและตัวสะกดเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนพยัญชนะต้น เช่น
กาง ขาง คาง งาง ตาง นาง ทาง วาง
๔. ยึดพยัญชนะต้นและสระเป็นหลัก แจกลูกโดยเปลี่ยนตัวสะกด เช่น
คาง คาน คาย คาว คาก คาด คาบ

การสะกดคำ

“การสะกดคำ” หมายถึง การอ่านโดยนำ “พยัญชนะต้น สระ ตัวสะกดและวรรณยุกต์” มาประสมเป็นคำอ่าน ถือเป็นเครื่องมือการอ่านคำใหม่ ซึ่งต้องให้นักเรียนสังเกตรูปคำพร้อมกับการอ่านการเขียน เมื่อสะกดคำจนจำคำอ่านได้แล้ว ต่อไปก็ไม่ต้องใช้วิธีการสะกดคำนั้น ให้อ่านเป็นคำได้เลย จะทำให้นักเรียนอ่านจับใจความได้และอ่านได้เร็ว การสะกดคำ มีหลายวิธี ได้แก่

๑. สะกดตามรูปคำ เช่น

กา สะกดว่า กอ – อา – กา
คาง สะกดว่า คอ – อา – งอ – คาง
ค้าง สะกดว่า คอ – อา – งอ – คาง – ไม้โท – ค้าง

๒. สะกดโดยสะกดแม่ ก กา ก่อน แล้วจึงสะกดมาตราตัวสะกด เช่น

คาง สะกดว่า คอ – อา – คา – คา – งอ – คาง
ค้าง สะกดว่า คอ – อา – คา – คา – งอ – คาง – คาง – โท – ค้าง

๓. คำที่มีสระอยู่หน้าพยัญชนะต้น หรือสระอยู่ระหว่างพยัญชนะต้น ให้สะกดพยัญชนะต้นก่อนสระเสมอ เช่น

เก สะกดว่า กอ – เอ – เก
ไป สะกดว่า ปอ – ไอ – ไป
เรียน สะกดว่า รอ – เอีย – นอ – เรียน
เสื้อ สะกดว่า สอ – เอือ – เสือ – ไม้โท – เสื้อ

๔. คำที่เป็นสระลดรูปหรือสระเปลี่ยนรูป สามารถสะกดได้ดังนี้ เช่น

กัน สะกดว่า กอ – อะ – นอ – กัน หรือ กอ – ไม้หันอากาศ – นอ – กัน
คน สะกดว่า คอ – โอะ – นอ – คน หรือ คอ – นอ – คน
แข็ง สะกดว่า ขอ – แอะ – งอ – แข็ง หรือ ขอ – แอะ – ไม้ไต่คู้ – งอ – แข็งเค็ม สะกดว่า คอ – เอะ – มอ – เค็ม หรือ คอ – เอะ – ไม้ไต่คู้ – มอ – เค็ม

๕. คำอักษรควบ สามารถสะกดได้ดังนี้

๕.๑ สะกดเรียงตัวอักษร มุ่งเพื่อการเขียนให้ถูกต้อง เช่น

กลอง สะกดว่า กอ – ลอ – ออ – งอ – กลอง
พราง สะกดว่า พอ – รอ – อา – งอ – พราง
กวาง สะกดว่า กอ – วอ – อา – งอ – กวาง

๕.๒ สะกดตัวควบพร้อมกัน มุ่งเพื่อออกเสียงคำควบกล้ำให้ชัด เช่น

กลอง สะกดว่า กลอ – ออ – งอ – กลอง
พราง สะกดว่า พรอ – อา – งอ – พราง
กวาง สะกดว่า กวอ – อา – งอ – กวาง

๖. คำอักษรนำ สามารถสะกดได้ดังนี้

๖.๑ สะกดเรียงตัวอักษร มุ่งเพื่อการเขียนให้ถูกต้อง เช่น

อยาก สะกดว่า ออ – ยอ – อา – กอ – อยาก
หนา สะกดว่า หอ – นอ – อา – หนา
สนาม สะกดว่า สอ – นอ – อา – มอ – สนาม

๖.๒ อ่านอักษรนำแล้วจึงสะกด มุ่งเพื่อออกเสียงคำให้ถูกต้อง เช่น

อยาก สะกดว่า หยอ – อา – กอ – อยาก
หนา สะกดว่า หนอ – อา – หนา
สนาม สะกดว่า สะหนอ – อา – มอ – สนาม

๗. คำที่ตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด คำที่มีตัวการันต์ ให้ใช้หลักสังเกตรูปคำ รู้ความหมายของคำและจำคำให้ได้โดยอ่านและเขียนอยู่เสมอ เช่น เหตุ จันทร์

ข้อสังเกต

๑. การสะกดคำ อาจสอนได้หลายวิธี ครูควรเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งที่เห็นว่าเหมาะสม และใช้วิธีเดียวตลอดการสอน เพื่อมิให้นักเรียนสับสน
๒. การสอนแจกลูกและสะกดคำแต่ละครั้ง ไม่ควรใช้เวลานานเกินไป นักเรียนจะเหนื่อยและเบื่อหน่ายได้ ครูควรสอนควบคู่กับการสอนอ่านเป็นคำ เป็นประโยค เพื่อให้นักเรียนสนุกขึ้นเพราะได้เรียนคำที่มีความหมาย
๓. เมื่อนักเรียนมีพัฒนาการด้านการอ่านมากขึ้น ควรลดการอ่านแบบแจกลูกลง คงไว้แต่เพียงการอ่านสะกดคำเท่านั้น เพื่อมิให้เขียนหนังสือผิด และควรเลิกอ่านสะกดคำเมื่อนักเรียนอ่านเป็นคำได้เองแล้ว

ดาวน์โหลดที่นี่

ขอบคุณที่มา : Facebook มานะ มานี ปิติ ชูใจ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่